สนข.เซ็ง!โควิดซัดทำแผนศึกษาอุโมงค์ทางด่วนใต้ดินลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแก้รถติดช้ากว่าแผน

แผนศึกษาออกแบบก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วนใต้ดินลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกจากถนนนราธิวาสสำโรงล่าช้าโดนพิษโควิด-19 เล่นงานทำผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นเดินทางมาสำรวจพื้นที่จริงไม่ได้คาดศึกษาแล้วเสร็จเดือนต..นี้จากนั้นสนข.” เร่งสรุปผลก่อนเสนอคจร.” เคาะเผยอาจเปิดทางให้เอกชนร่วมลงทุน

นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโนบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการศึกษาการออกแบบของการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดจากถนนนราธิวาส- สำโรง ที่กระทรวงคมนาคมจะนำมาใช้แก้ไขปัญหาจราจรในเขตเมืองออกไปนอกเขตเมืองว่า จากที่กระทรวงคมนาคม โดย สนข. ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น และกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อทำการศึกษานั้น ล่าสุดญี่ปุ่นได้นำผลการศึกษามาให้ สนข.พิจารณา แต่พบว่า การคำนวณค่าก่อสร้างและความเป็นไปได้ในการดำเนินงาน ยังมีมูลค่าสูงมาก เพราะญี่ปุ่นคำนวณตามอัตราค่าดำเนินการของญี่ปุ่น สนข.จึงให้กลับไปวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการดำเนินการใหม่  

ทั้งนี้ทาง สนข.ยังไม่สามารถตัดสินได้ว่า จะใช้ผลการศึกษาจากความร่วมมือระหว่างกันของใคร ต้องรอให้ญี่ปุ่นแก้ไขก่อน และต้องรอผลการศึกษาของเกาหลีด้วย ถึงจะพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ถือว่า การสร้างอุโมงค์ทางลอดเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพราะไม่มีปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ประกอบกับ อุโมงค์ทางลอดจากถนนนราธิวาส- สำโรง เป็นเส้นทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญจราจรในเขตเมือง และปัจจุบัน รถจากภาคใต้เข้ากทม. เพื่อผ่านไปยังภาคตะวันออกมีปริมาณมาก โดยเฉพาะโครงข่ายทางด่วนบริเวณต่างระดับท่าเรือ มีความหนาแน่นมาก หากจะก่อสร้างถนนเส้นทางใหม่ จะติดบริเวณบางกระเจ้า จ.สมุรปราการ ที่ห้ามการก่อสร้าง 

ดังนั้น เส้นทางนี้จะทำเป็นอุโมงค์ เส้นบายพาส เพื่อระบายรถ ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาไปโผล่บริเวณไบเทค บางนา ซึ่งเชื่อมกับทางด่วนบางนา-ชลบุรี เพื่อระบายรถได้ อีกทั้งการก่อสร้างเป็นอุโมงค์จะทำให้เวนคืนน้อยที่สุด

ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ สนข.ได้ขอให้ญี่ปุ่นกลับไปศึกษาวิเคราะห์การออกแบบใหม่แล้ว ล่าสุด ญี่ปุ่นได้ขอรายละเอียดราคากลางของวัสดุก่อสร้างของไทย เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันมากที่สุด นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น ต้องเดินทางมาสำรวจพื้นที่ก่อสร้างจริงในไทย แต่จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาได้ จึงคาดว่า การศึกษาน่าจะเสร็จล่าช้าจากกำหนดเดิมที่จะต้องส่งผลการศึกษามาให้สนข. พิจารณาภายในเดือนต.ค.63 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน คณะทำงานความร่วมมือด้านวิชาการ ได้พิจารณาเสนอแนะผลการศึกษาเบื้องต้น และแนวเส้นทาง การประเมินต้นทุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง การพิจารณาผลกระทบต่อปริมาณจราจร วิธีการนำผลการศึกษาไปประยุกต์ใช้งาน เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และข้อเสนอแนะแนวทางการดาเนินงาน ต่อสนข.แล้ว และขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารรายงานผลการดำเนินงาน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางเลือกในการแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณถนนนราธิวาส-สำโรง เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป

สำหรับอุโมงค์ทางด่วนใต้ดินลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกเส้นนี้ จะเป็นทางด่วนใต้ดินเส้นทางแรกของไทย เป็นทางเลือกให้ประชาชนผู้ใช้ทางที่ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหารถติดในกรุงเทพฯ บริเวณสาทร สีลม บางรัก และพระราม 4 ได้มาก และยังเชื่อมต่อการเดินทางไปยังทางด่วนบางนาได้ด้วย  โดยมีระยะทางรวม 8.7 กิโลเมตร (กม.) เริ่มจากถนนนราธิวาส ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ต.บางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ ไปสิ้นสุดที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา เบื้องต้นญี่ปุ่นเสนอมา 2 รูปแบบคือ อุโมงค์ใต้ดินที่มีทางด่วน 2 ชั้น และอุโมงค์ใต้ดินที่มีทางด่วน 1 ชั้น 

อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการจัดเก็บค่าผ่านทางด้วย คาดว่า กระทรวงคมนาคม จะนำเสนอโครงการดังกล่าวให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาอนุมัติหลังผลการศึกษาของญี่ปุ่นแล้วเสร็จ ซึ่งเบื้องต้นมีแนวโน้มอาจจะให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงมาก เอกชนอาจจะไม่สนใจลงทุน รวมทั้งยังมีเส้นทางที่เชื่อมต่อกับทางด่วน ของ กทพ. ด้วย