สธ.ทำหนังสือถึง อบจ. แจงแนวทางถ่ายโอนบุคลากรที่ไม่ได้ปฏิบัติงาน สอน./รพ.สต.

  • ต้องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา หากไม่เห็นชอบให้เข้าระบบโอนย้ายปกติ
  • สัปดาห์นี้ถ่ายโอนพิ่มอีก 2 จังหวัด คือ พะเยา และเชียงใหม่
  • รวม 11 จังหวัด จำนวน 942 แห่ง

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ  60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ดำเนินการเพิ่มอีก 2 จังหวัด คือ พะเยา 55 แห่ง และเชียงใหม่ 62 แห่ง รวมถ่ายโอนภารกิจแล้ว 11 จังหวัด 942 แห่ง โดยในการถ่ายโอนรอบปีงบประมาณ 2566 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีบุคลากรที่ไม่ได้ปฏิบัติงานตามภารกิจของ สอน./รพ.สต. ถ่ายโอนไปด้วยรวม 1,365 ราย (ปฏิบัติงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ) ทำให้เกิดผลกระทบต่อกรอบอัตรากำลังของหน่วยบริการในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิของกระทรวงสาธารณสุข

นพ.พงศ์เกษมกล่าวต่อว่า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับคุณภาพการให้บริการของกระทรวงสาธารณสุข และการดำเนินการถ่ายโอนในรอบปีงบประมาณ 2567 เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอน สอน.และ รพ.สต.ให้แก่ อบจ. กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนายก อบจ. ทุกแห่ง แจ้งแนวทางการถ่ายโอนบุคลากร โดยขอให้ อบจ. ดำเนินการดังนี้ 1.ส่งข้อมูลรายละเอียดบุคลากรที่ประสงค์ถ่ายโอนไป อบจ.ปีงบประมาณ 2567 ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบและพิจารณาต่อไป 2.กรณีบุคลากรนั้นไม่ได้ปฏิบัติงานใน สอน./รพ.สต.ที่ถ่ายโอนภารกิจ ต้องให้ผู้บังคับบัญชา (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป) พิจารณาให้ความเห็นก่อน โดยถ้าเห็นชอบให้ดำเนินการตามแนวทางการถ่ายโอนได้ หากผู้บังคับบัญชาไม่เห็นชอบ แต่อบจ.ประสงค์จะรับโอนและบุคลากรยืนยันจะขอโอน ให้ อบจ.ดำเนินการตามขั้นตอนการโอนย้ายปกติ คือ ทาบทามการโอนมาที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และต้องมีตำแหน่งว่างเพื่อรองรับบุคลากรนั้น