สจล. ชู 2 นวัตกรรมวิศวกรรมศาสตร์ รับมือสถานการณ์“ไฟรั่ว– ดินสไลด์”

  • ไม้ตรวจวัดกระแสไฟฟ้ารั่ว-เครื่องวัดอัตราการไหลของน้ำในดิน
  • แนะรัฐเฝ้าระวัง“เสถียรภาพคันดิน” 
  • เสี่ยงทรุดตัวเหตุฝนตกต่อเนื่อง


นายดุสิต  สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า  คณะวิศวกรรมศาสตร์  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)  เปิดเผยว่า  กระแสไฟฟ้ารั่วถือเป็นอีกหนึ่งอุบัติภัยที่แฝงมากับสถานการณ์น้ำท่วมนอกเหนือจากโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมโดยที่ผ่านมาได้เกิดเหตุกระแสไฟฟ้ารั่วช็อตชายหนุ่มขณะช่วยเพื่อนบ้านขนย้ายของหนีน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นจนหมดสติและเสียชีวิตในเวลาต่อมา 

ทั้งนี้สจล. ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม“ไม้ตรวจวัดกระแสไฟฟ้ารั่ว” ไม้ตรวจกระแสไฟฟ้ารั่วบนผิวน้ำความแม่นยำสูงฉบับพกพาที่มีตัวแสดงผลเป็นหลอดไฟLED และลำโพงBuzzer ส่งสัญญาณไฟและเสียงเตือนหากมีกระแสไฟรั่วโดยอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจวัดกระแสไฟฟ้ารั่วได้ตั้งแต่ระดับที่มนุษย์ยังไม่สามารถรู้สึกได้หรือประมาณ2 เมตรล่วงหน้าก่อนจุดที่จะมีกระแสไฟฟ้ารั่วซึ่งเป็นอันตรายแก่ร่างกายเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกทีมปฏิบัติการและผู้เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการค้นหาได้อย่างปลอดภัยอย่างไรก็ดีบริเวณพื้นที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงยังคงมีปริมาณน้ำท่วมขังสูงและมีความเสี่ยงของกระแสไฟฟ้ารั่วอย่างต่อเนื่องสจล. จึงขอส่งกำลังใจแก่ครอบครัวผู้ประสบภัยและหน่วยงานกู้ภัยทุกท่านให้สามารถดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยได้อย่างปลอดภัย

 ด้านดร.วิรุฬห์ คำชุม อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา  คณะวิศวกรรมศาสตร์  สจล.กล่าวเสริมว่านอกเหนือจากอุบัติภัยกระแสไฟฟ้ารั่วแล้วการพังทลายของภูเขาตามธรรมชาติหรือคันดินและเขื่อนดินที่มนุษย์สร้างขึ้นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพราะผลกระทบต่อชีวิตประชาชนและมูลค่าความเสียหายที่ตามมาในอนาคตย่อมประเมินไม่ได้จากเหตุการณ์ฝนตกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของไทยมีความสุ่มเสี่ยงต่อการพังทลายของคันคลองและเขื่อนดินเพราะโดยปกติเสถียรภาพของคันดินจะเกิดจาก(1) แรงเสียดทานของเม็ดดินและ(2) แรงดึงของน้ำในดินเหนือระดับน้ำใต้ดินเมื่อเกิดพายุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องน้ำฝนจะไหลซึมลงดินทำให้แรงดึงของน้ำในดินลดลงและเกิดการพังทลายของคันดินได้โดยส่วนใหญ่มักเกิดที่ระยะ1 – 2 เมตรจากผิวดินจะเห็นได้ว่าแรงดึงของน้ำในดินและอัตราการไหลของน้ำฝนลงดินมีส่วนสำคัญต่อการวิเคราะห์เสถียรภาพและมีประโยชน์ต่อการเตือนภัยดินถล่ม

ทั้งนี้ภาควิชาวิศวกรรมโยธาคณะวิศวกรรมศาสตร์สจล. จึงเล็งเห็นความสำคัญของการวัดอัตราการไหลของน้ำในดินนี้และได้พัฒนา“เครื่องวัดอัตราการไหลของน้ำในดิน” กระบวนการตรวจวัดรูปแบบใหม่เพื่อใช้ประกอบการประเมินเสถียรภาพหรือการเตือนภัยการพังทลายของคันดินโดยนวัตกรรมดังกล่าวมีการประยุกต์ใช้เครื่องมือตรวจวัดสองชนิดคือเครื่องมือตรวจวัดความชื้นและเครื่องมือตรวจวัดแรงดึงน้ำในดินพร้อมบันทึกผลในรูปแบบดิจิทัลทั้งนี้ผลที่ได้จะเป็นพฤติกรรมจริงของการไหลของน้ำฝนลงดินและแรงดึงน้ำในดินที่เปลี่ยนไปบริเวณเหนือระดับน้ำใต้ดินซึ่งสามารถบอกได้ว่าเขื่อนดินหรือลาดดินริมถนนตอนฝนตกจะมีเสถียรภาพที่ลดลงกี่เปอร์เซ็นต์ได้อย่างแม่นยำขึ้นซึ่งแตกต่างจากนวัตกรรมนำเข้าที่ใช้เวลานานในการวัดอัตราการไหลในสภาวะของดินอิ่มน้ำ(ดินที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำใต้ดิน) อีกทั้งไม่สามารถพิจารณาการไหลของน้ำฝนลงดินและแรงดึงน้ำในดินที่เปลี่ยนไปตามความเป็นจริงบริเวณเหนือระดับน้ำใต้ดินได้จึงเป็นเหตุให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการประเมินเสถียรภาพหรือการเตือนภัยการพังทลายของคันดิน

นอกจากนี้นวัตกรรมดังกล่าวยังสามารถปรับใช้สำหรับการไหลของสารปนเปื้อนในดินจากโรงงานหรือจากหลุมขยะฝังกลบสำหรับงานด้านสิ่งแวดล้อมและงานวิศวกรรมอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้เครื่องวัดอัตราการไหลของน้ำในดินอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรและเตรียมพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์เป็นลำดับต่อไปโดยมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่35,000 บาทครอบคลุมเครื่องมือและอุปกรณ์เก็บข้อมูลต่อชุด