สคร.เรียกเจ้าหนี้รัฐแก้สัญญาใหม่หลังสิทธิพิเศษหมดลง

  • หลังหลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ
  • แผนฟื้นฟูกิจการสามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น

นายประภาส คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ขอชี้แจงว่าคณะกรรมการ(บอร์ด) ติดตามการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และเป็นเพียงตัวกลางเพื่อให้การดำเนินการ เกี่ยวกับการฟื้นฟูการบินไทย ให้ เป็นไปด้วยความราบรื่นเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ไปชี้ขาดว่าแผนฟื้นฟูฯจะออกมารูปแบบใด

ท้ังนี้ ก่อนหน้าที่ศาลล้มละลายกลาง นัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูฯ ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ คณะกรรมการชุดนี้ จะเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือการบินไทย ในการนัดเจ้าหนี้ในส่วนภาครัฐ เช่น บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยจำกัด  (ทอท. )บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เป็นต้น รวมทั้งสถาบันการเงินของรัฐ อาทิ ธนาคารกรุงไทยจำกัด(มหาชน.)  ธนาคารออมสิน เข้ามาแก้ไขสัญญาบางข้อ ที่แต่เดิมได้สิทธิ์ประโยชน์จากภาครัฐ เช่น เดิมธนาคารปล่อยเงินกู้ให้การบินไทย อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าบริษัทอื่น เป็นต้น เนื่องจากการบินไทยพ้นจากสถานะรัฐวิสาหกิจแล้ว  จึงต้องมีการแก้ไขสัญญาของการบินไทยกับคู่สัญญา ในส่วนภาครัฐทั้งหมด ให้สัญญาในรูปแบบเอกชนต่อเอกชน ไม่ใช่สัญญารัฐวิสาหกิจกับเอกชน

ประภาส คงเอียด

“ขณะนี้ ผมกำลังนัดหมายเจ้าหนี้ภาครัฐ เพื่อเข้ามาแก้ไขสัญญาใหม่บางข้อ ก่อนจะส่งแผนฟื้นฟูฯให้ศาลพิจารณา หลังจากศาลเห็นชอบแผนฟื้นฟูแล้ว การดำเนินการตามแผนจะได้ไม่มีปัญหาติดขัด ส่วนเดิมการบินไทยได้สิทธิพิเศษ ในเรื่องการบินระหว่างประเทศ จากการเป็นรัฐวิสาหกิจ เรื่องนี้กระทรวงคมนาคมต้องไปคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนสิทธิการบินใหม่ เพื่อจัดสรรตารางบินให้เหมาะสม”

สำหรับเจ้าหนี้การบินไทยทั้ง 74 สหกรณ์  และสถาบันการเงิน ที่ลงทุนหุ้นกู้ของการบินไทย รวม 62,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้ส่งจดหมายไปเชิญตัวแทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้ามาเจรจารายละเอียดต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่า การหยุดพักชำระหนี้ เป็นไปตามกฎหมายของศาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสหกรณ์ที่ถือหุ้นการบินไทยทุกราย เพื่อไม่ให้เกิดการขาดสภาพคล่อง    

“สคร.จะเข้าไปดูว่าสัญญาต่างๆ ที่การบินไทยลงนามร่วมกับคู่สัญญา มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2536 หรือไม่ โดยสคร.จะเป็นผู้ดูแลสัญญาของการบินไทย ให้ถูกต้องตามกฎหมาย”

ส่วนกรณีท่ี มีข่าวว่า การบินไทยว่าจ้างสำนักงานกฎหมายเพิ่มเติม จากก่อนหน้านี้แต่งตั้งให้บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายดูแลอยู่แล้ว ซึ่งสร้างไม่พอใจให้กับบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ นั้น เรื่องนี้ขอยืนยันว่ายังใช้สำนักงานกฎหมายบริษัทเดิมอยู่

“ปัจจุบันการบินไทยได้เรียกเจ้าหนี้บางส่วน มาเจราจาพบว่า การเจรจาเป็นไปอย่างราบรืื่น ถ้าหากสามารถเจราจากับเจ้าหนี้ทั้งหมด รวมถึงในส่วนเจ้าหนี้ต่างประเทศได้  ก็มีแนวโน้มว่าอาจไม่ต้องพึ่งกระบวนการยื่นขอฟื้นฟูฯตามกระบวนการศาลล้มละลายของสหรัฐอเมริกา (Chaper 11)”

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการติดตามฯ ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และมีกรรมการ 8 คน จะมีการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานแผนฟื้นฟูทุกๆ  2 สัปดาห์ แต่ถ้าหากมีเรื่องเร่งด่วนก็สามารถเรียกประชุมได้ทันที

“เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา  ที่ เป็นการประชุมคณะกรรมการติดตามฯครั้งแรก เป็นการเรียกคณะกรรมการการบินไทย  สำนักงานกฎหมาย ที่ปรึกษาทางการเงินของการบินไทย เข้ามารายงานเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหา ว่าดำเนินการไปถึงไหนแล้ว  ในการประชุมครั้งนี้ ยังไม่ได้มีการเรียกคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 5  ราย ประกอบด้วย 1.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการการบินไทย 2.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการการบินไทย และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย 3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค  4.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ  5.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์  เข้ามารายงานเรื่องแผนฟื้นฟูอย่างที่เป็นข่าว เพราะคณะกรรมการชุดนี้ไม่มีอำนาจไปสั่งการ “