“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า เคลื่อนไหว 30.70-31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า เงินบาทไทยสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าทะลุแนว 31.00 ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือนที่ 30.83 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยฐานะเงินบาทแข็งค่าสอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับคาดว่ามีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ จากกลุ่มผู้ส่งออก, เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงขาย หลังธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ย้ำสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง พร้อมประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวรุนแรงถึง 6.5% ในปีนี้

อย่างไรก็ดีช่วงแข็งค่าของเงินบาทเริ่มจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดรอติดตามท่าทีการเข้าดูแลค่าเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทยย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด โดยในวันศุกร์ (12 มิ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.95 เทียบกับระดับ 31.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 มิ.ย.) 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.70-31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สุนทรพจน์ของประธานเฟด ผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางอังกฤษ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมิ.ย. ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

ด้านดัชนีหุ้นไทยร่วงลงหลุดกรอบ 1,400 จุด โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,382.56 จุด ลดลง 3.70% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 93,412.05 ล้านบาท ลดลง 1.42% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้นเพียง 0.02% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 294.55 จุด โดยเผชิญแรงขายตามตลาดต่างประเทศ หลังปรับตัวรับแรงหนุนจากการทยอยเปิดเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้

นอกจากนี้มุมมองที่สะท้อนความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเฟด และความเสี่ยงต่อการระบาดระลอก 2 ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ กระตุ้นแรงขายในตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยในช่วงปลายสัปดาห์    

  สำหรับสัปดาห์ถัดไป ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.70-31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,370 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,420 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สุนทรพจน์ของประธานเฟด ผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางอังกฤษ  ความคืบหน้าการพิจารณามาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ 

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนพ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางอังกฤษ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. ของญี่ปุ่น และยูโรโซน รวมถึงยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนพ.ค. ของจีน