ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภัยแล้งปี 63 สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 19,000 ล้านบาท

  • ชี้กระทบจีดีพี 0.10-0.11%
  • เผยยังต้องติดตามความรุนแรงภัยแล้งต่อเนื่อง
  • ส่อเค้าความรุนแรงยาวนาน จากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลง 33.1%

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่าผลกระทบเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 อาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 17,000-19,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.10-0.11% ของจีดีพี ทั้งนี้ยังต้องติดตามระดับความรุนแรงของภัยแล้งโดยเฉพาะเดือนมีนาคม-เมษายน และระยะเวลาการเกิดภัยแล้งที่อาจลากยาวไปในช่วงแล้งนอกฤดูกาล จนกระทบภาพรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งปีนี้ให้อยู่ในภาวะวิกฤติมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งฤดูกาลปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) เกิดขึ้นเร็วกว่าปีก่อน และส่อเค้าความรุนแรง ยาวนานมากขึ้น จากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลง 33.1% ซึ่งเป็นการลดลงแทบทุกภาคของประเทศ และยังเป็นระดับน้ำวิกฤติกว่าปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรงอีกด้วย 

ทั้งนี้ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นพืชฤดูแล้งที่ได้รับผลกระทบจากผลผลิตเสียหายหนักที่สุด ซึ่งอาจช่วยผลักดันราคาพืชฤดูแล้งกลุ่มนี้ให้ปรับตัวขึ้นระยะสั้น แต่ด้วยแรงฉุดด้านผลผลิตที่ลดลงจะเป็นปัจจัยฉุดรายได้เกษตรกรในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ให้หดตัวอยู่ในกรอบ 0.5-1.0%  ซึ่งนอกจากภัยแล้งจะกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องถึงภาคการส่งออกที่อาจขาดแคลนผลผลิตเพื่อการส่งออก ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ความต้องการในตลาดโลกชะลอตัวลง