ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ฝุ่นพิษ PM 2.5 ส่งผลกระทบเศรษฐกิจ 6,000 ล้านบาท

  • ค่าเสียโอกาสทางด้านสุขภาพนำโด่งเป็นเรืีองแรกกว่า3,000ล้านบาท
  • ตามติดด้วยค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว
  • ชี้รัฐเอกชนประชาชนต้องร่วมมือจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลประเมินว่า จากการที่ภาครัฐออกมาตรการเป็นรูปธรรมผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ต่อเศรษฐกิจน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3,200 –6,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับกรอบระยะเวลา 1 เดือน ในช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นค่าเสียโอกาสทางด้านสุขภาพ ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัยเครื่องฟอกอากาศ 2,000-3,000 ล้านบาท ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว 1,000-2,400 ล้านบาท และค่าเสียโอกาสภาคธุรกิจอื่น ๆ เช่น ร้านอาหารข้างทาง สวนอาหาร ตลาดนัด 200-600 ล้านบาท

ทั้งนี้นับเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี2563 ในกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่คงจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชนและประชาชน เพื่อให้ปัญหาทุเลาลงในส่วนที่จะสามารถทำได้ อาทิ ภาคเอกชน ทั้งการตรวจสอบสภาพรถยนต์ การบริหารจัดการงานก่อสร้าง และกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่ในส่วนของภาคประชาชนและเกษตรกร อาทิ การไม่เผาขยะ หญ้าแห้ง หรือพืชผลทางการเกษตรต่าง ๆ

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤติ ได้แก่ 1.ขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก 2. ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ในวันคี่ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 2563 สำหรับวันคู่ให้เข้าได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด 3. ตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) รถโดยสารและรถบรรทุก 4. ตรวจสอบโรงงานที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองหากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 5. กำกับให้กิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าและก่อสร้างอื่นๆ เป็นไปตามข้อกำหนดไม่ทำให้เกิดฝุ่นและปัญหาการจราจร

6.ไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 7. จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงสถานการณ์วิกฤติฝุ่นละอองและเข้มงวดการควบคุมยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง 8. ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 PPM ซึ่งเป็นน้ำมันที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อย 9. ขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานและรถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน 10. ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษาสนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง และ 11. สร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5