ศาลสั่งปิดพินัยกรรม “เจ้าชายฟิลิป” เป็นความลับ 90 ปี

  • ห่วงกระทบพระเกียรติ “ควีนอลิซาเบธ” และราชวงศ์
  • ผู้รักษาพินัยกรรมเผยหลัง 90 ปีเปิดเนื้อหากับคนใกล้ชิดได้
  • แต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะเหตุเป็นเรื่องส่วนพระองค์

บีบีซีไทยรายงานว่า ศาลฎีกาแผนกคดีครอบครัวของสหราชอาณาจักร มีคำสั่งให้ปกปิดเนื้อหาในพินัยกรรมของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระไว้เป็นความลับอย่างน้อย 90 ปี เพื่อปกป้อง “พระเกียรติและพระราชฐานะ” ของสมเด็จพระราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ 

การที่ศาลสั่งปิดเนื้อหาพินัยกรรมของพระราชวงศ์อังกฤษเป็นความลับตลอดไป ถือเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมานานกว่าหนึ่งศตวรรษแล้ว แต่ในคราวนี้นับเป็นครั้งแรกที่ศาลกำหนดระยะเวลาปกปิดนานถึง 90 ปี ซึ่งหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว สามารถเปิดเผยเนื้อหาของพินัยกรรมเป็นการส่วนตัวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ แต่จะไม่เปิดเผยต่อสาธารณะอย่างเด็ดขาด 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.ย. มีการเผยแพร่คำสั่งศาลในกรณีของเจ้าชายฟิลิป หลังศาลได้รับคำร้องจากอัยการสูงสุด และทนายความจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเซอร์ แอนดรูว์ แม็กฟาร์เลน ประธานศาลฎีกาแผนกคดีครอบครัว กล่าวว่า  

“คำสั่งศาลนี้มีขึ้น โดยคำนึงถึงพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ศาลจึงเห็นสมควรที่จะให้มีการปฏิบัติเป็นพิเศษต่อพินัยกรรมของบรรดาพระราชวงศ์ เพื่อยกระดับการปกป้องเรื่องส่วนพระองค์ เพื่อรักษาพระเกียรติของสมเด็จพระราชินีนาถ และสมาชิกของพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิด” 

เซอร์แม็กฟาร์เลน ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาพินัยกรรมของพระราชวงศ์อังกฤษที่ล่วงลับไปแล้วถึงกว่า 30 พระองค์ ชี้แจงว่า ไม่ได้เปิดให้สาธารณชนเข้าฟังการพิจารณาคำร้องกรณีพินัยกรรมของเจ้าชายฟิลิป เนื่องจากมีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดการคาดเดาเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ จนกลายเป็นข่าวเล่าลือที่ปราศจากมูลความจริงขึ้นมาได้ โดยเนื้อหาของพินัยกรรม ไม่มีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ แต่ล้วนแต่เป็นเรื่องส่วนพระองค์ทั้งสิ้น 

อย่างไรก็ตาม เซอร์แม็กฟาร์เลน ระบุว่า เนื้อหาพินัยกรรมของพระราชวงศ์อังกฤษ สามารถจะเปิดเผยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นการส่วนตัวได้ หลังศาลมีคำสั่งให้แจกจ่ายทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมไปแล้ว 90 ปี แต่กระบวนการเพื่อเปิดเผยเนื้อหาของพินัยกรรมนั้น จะต้องผ่านการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีครอบครัวก่อน  

ทั้งนี้ เซอร์แม็กฟาร์เลนมีแผน ที่จะตีพิมพ์รายชื่อพระราชวงศ์ เจ้าของพินัยกรรมกว่า 30 ฉบับ ที่เขาเก็บรักษาไว้ แต่จะยังไม่ทำเช่นนั้นหากมีผู้ร้องคัดค้าน และเขาจะรอจนกว่าศาลจะพิจารณาคำร้องคัดค้านนั้นเสร็จสิ้นเสียก่อน โดยชื่อของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ จะไม่รวมอยู่ในรายชื่อข้างต้น เพราะมีการเปิดเผยพินัยกรรมของพระองค์ไปแล้วหลังการสิ้นพระชนม์เมื่อปี 1997 โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่นั้น ถูกเก็บไว้ในรูปแบบของกองทุน เพื่อรอส่งมอบแก่พระโอรสทั้ง 2 เมื่อทรงเจริญวัยครบ 25 พรรษา