ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนสั่ง”เมีย-ลูก สมัคร สุนทรเวช” ชดใช้ 587 ล้านบาทคดีซื้อรถเรือดับเพลิง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 16 มิ.ย.65 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนสั่งให้คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ภรรยานายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนางกาญจนากร ไชยลาโภ นางกาญจนาภา มุ่งถิ่น บุตรสาว ในฐานะทายาทของนายสมัคร รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย 53-วันที่ 10 เม.ย. 64 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปีหรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.64 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ทั้งนี้ หากคดีที่กรุงเทพฯฟ้องบริษัทสไตล์เออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ประเทศออสเตรีย ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายเรียกทรัพย์คืนตามคดีหมายเลขดำที่กค.155/2552 โดยศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้คู่กรณีกับคืนสู่ฐานะเดิม หรือคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของ ICC มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้คู่กรณีตกลงกันด้วยดีทำให้ค่าความเสียหายลดลงเพียงใด ก็ให้ทายาททั้ง 3 รับผิดตามอัตราส่วนตามที่ศาลกำหนดให้นายสมัครรับผิดชอบเพียงนั้น ทั้งนี้ทายาททั้ง 3 ต้องรับผิดต่อกรุงเทพฯเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของนายสมัครที่ตกทอดแก่ตน

กรณีดังกล่าวกรุงเทพมหานคร ได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้ง 3 ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่นายสมัครต้องรับผิดชอบจากกรณีการทุจริตในโครงการจัดซื้อเรือและรถดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานครกับบริษัทสไตล์เออร์ เมื่อปี47-48 ซึ่งกระทรวงการคลังกำหนดให้นายสมัครซึ่งเป็น 1 ใน 6ของผู้ร่วมกระทำผิดต้องรับผิดชดใช้เป็นเงิน 956,931,442 บาท

ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ทายาททั้ง 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีนายสมัครก็ทำละเมิด ระบุว่า การที่นายสมัครในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 49 (1) พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 และเป็นผู้มีอำนาจสั่งซื้อตามข้อ 5 ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการพัสดุ 2538 ได้ทราบถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อตามที่พล.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสนอเรื่องผ่านคุณหญิงณัฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานครขณะนั้น เพื่อให้พิจารณามาโดยตลอดแต่ไม่ได้มีการตรวจสอบ หรือทักท้วงถึงการกระทำดังกล่าวและยังคงอนุมัติให้กรุงเทพมหานครจัดซื้อ

การกระทำของนายสมัครจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและถือเป็นการกระทำละเมิดต่อกรุงเทพมหานครตามมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเมื่อความเสียหายที่กรุงเทพมหานครได้รับ เกิดจากการจัดซื้อที่ไม่เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการพัสดุ 2538 ทำให้ราคาที่ซื้อสูงเกินจริงเป็นเงินจำนวน 1,958,600,000บาท และการจัดซื้อยังมีผู้เกี่ยวข้องหลายรายจึงสมควรกำหนดสัดส่วนความรับผิดชอบของนายสมัครโดยเทียบเคียงแนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังตามหนังสือกระทรวงการทางด่วนที่สุดที่กค.0406.2/ว.66ลงวันที่ 25 ก.ย. 50 ที่กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาขั้นสูงหรือผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อรับผิดกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบด้านการจัดซื้อจัดจ้างเนื่องจากกำหนดราคาสูงกว่าความเป็นจริงโดยให้รับผิดในอัตราร้อยละ 30 ของมูลค่าความเสียหายเมื่อในสมัครเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรุงเทพมหานครและเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อจึงสมควรต้องรับผิดต่อกรุงเทพฯในอัตราร้อยละ 30 ของความเสียหายจากเงินจำนวน1,958,600,000 บาทคิดเป็นเงินที่ต้องรับผิด 587,580,000 บาท

และเมื่อความรับผิดอันเกิดจากการกระทำละเมิดของนายสมัครต่อกรุงเทพมหานครเป็นความรับผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินเป็นเงิน มิใช่ความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของนายสมัครผู้ตายโดยแท้ดังนั้นบุคคลทั้ง 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสมัครจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 587,580,000 บาทให้แก่กรุงเทพมหานครโดยไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดให้แก่ตนทั้งนี้ตามมาตรา 1600 และมาตรา 1601 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์