“ศักดิ์สยาม” ส่งเทียบเชิญ ”ผู้ว่าฯ กทม.แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” หารือปมรถไฟฟ้าสายสีเขียวสัปดาห์หน้า

  • คมนาคมส่งหนังสือถึงกทม. 2ฉบับสอบถามประเด็นข้อสังสัยและเทียบเชิญผู้ว่าฯกทม.คนใหม่
  • ด้านชัชชาติพูดชัดยังไม่ได้รับหนังสือเชิญชวน
  • ลั่นพร้อมมาร่วมหารือหาทางออกร่วมกับศักดิ์สยามในทุกๆประเด็น
  • ที่เป็นประเด็นฮอตอิชชู่ และประเด็นที่คมนาคมเคยทำหนังสือมา

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ นายสรพงษ์ ไพทูรย์พงศ์รองปลัดกระทรวงคมนาคม ทำหนังสือไปยัง กทม.เพื่อสอบถามในประเด็นที่ยังเป็นข้อสังสัยที่กระทรวงคมนาคมเคยสอบถามไป รวมทั้งทำหนังสือเพื่อเชิญ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)และ คณะทำงานร่วมระหว่าง กทม.และกระทรวงคมนาคมตามกข้อตกลงการลงนามในความร่วมมือระหว่างกันในการโอนย้ายสายสีเขียวจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ไปอยู่กับ กทม.  มาหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกในประเด็น การขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกรุงเทพมหานคร(กทม.) เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทในเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปเป็นปี 2602 แลกกับเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังเป็นปัญหาอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามทางกระทรวงคมนาคมมีแนวทางที่ชัดเจนมาโดยตลอดว่า ให้ยึดตามหลักกฎหมายตามมติ ครม. รวมถึงตามหลักธรรมาภิบาล และประโยชน์ของประชาเป็นหลัก

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ตนยินดีอย่างมากที่จะเข้าไปหารือร่วมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และกระทรวงคมนาคม หาได้รับหนังสือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันในเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ อย่างไรก็ตามขณะนี้ ทาง กทม. ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญหารือร่วมกันกับ กระทรวงคมนาคม  ขณะเดียวกันก็ศึกษาจากประเด็นต่างๆที่ทาง กระทรวงคมนาคมเคยสอบถามมายังกทม.เพื่อเตรียมข้อมูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทาง กระทรวงคมนาคม ได้แสดงความเห็นคัดค้านต่อการขยายสัญญาสัมปทานมาโดยตลอด พร้อมเสนอความเห็นเพิ่มเติม เข้า ครม. ทุกครั้งที่จะมีการเสนอ โดยเฉพาะใน4 ประเด็นหลักคือ 1.ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 2.ประเด็นการคิดค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท  

3.ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้เกิดความถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา  4.ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ ส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585  และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนั้นจึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยกระทรวงคมนาคมได้ขอให้กทม.ชี้แจงทั้ง 4 ประเด็นนี้ให้ชัดเจนก่อน