“ศักดิ์สยาม”เคาะแผนบริหารบริษัทลูกรถไฟ”เอสอาร์ที แอสเสท”ปักธง บริหารสินทรัพย์ที่ดินเจ้าคุณปู่10 ปีสร้าง รายได้ 1.2 แสนล้าน- หวังล้างขาดทุนรถไฟไทย ราบคาบกลับมายืนหนึ่งได้แบบยั่งยืน

ศักดิ์สยาม”นั่งหัวโต๊ะเคาะแผนบริหารบริษัทลูกรถไฟ”เอสอาร์ที แอสเสท”ปักธงบริหารสินทรัพย์ที่ดินเจ้าคุณปู่ 38,469 ไร่ สางสัญญาเก่า-ต่อสัญญาใหม่ 1.2 หมื่นสัญญา ลุยเปิดประมูลลงทุนที่ดินแปลงใหญ่ 3 แปลง “ กม.11-สถานีแม่น้ำ-สถานีกลางบางซื่อ” มูลค่า3.4 หมื่นล้าน หาช่องซื้อที่ดิน-ลงทุนร่วมเอกชน มั่นใจรายได้ 10 ปี ทะลุปัง ๆ 1.2 แสนล้าน มั่นใจล้างหนี้รถไฟไทยได้กลับมาอยู่ได้แบบยั่งยืน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารสินทรัพย์และที่ดินของ รฟท. ซึ่งจะมีการรับโอนมาบริหารกว่า 38,469 ไร่ ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้รฟท.จัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร เพื่อสร้างความแตกต่างจากการบริหารเดิมของ รฟท. ให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เช่น เรื่องข้อจำกัดในเรื่องกฎ ระเบียบต่างๆ ความคล่องตัวในการบริหาร รวมถึงการมีเครื่องมือในการช่วยให้บริษัทลูกเกิดประสิทธิภาพเทียบเท่ากับบริษัทเอกชน โดยเฉพาะขอให้ศึกษาโมเดลของประเทศญี่ปุ่นที่มีการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารสินทรัพย์จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

.แผน 5 ด้านสร้างรายได้

ที่สำคัญยังให้จัดทำแผนธุรกิจที่ต้องดำเนินการในระยะต้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงคัดเลือกบางโครงการสามารถที่เห็นผลได้เร็ว เพื่อมาทำเป็นแผนควิกวิน  ซึ่งในแผนต้องระบุให้ได้ว่าจะสร้างรายได้จากช่องทางใด ตลอดจนเข้าไปแก้ไขข้อจำกัดในที่ดิน เช่น ที่ดินบางแปลงที่มีหน่วยงานรัฐของใช้งานอยู่ หรือมีผู้บุกรุก  

ทั้งนี้ในการประชุม รฟท. และบริษัทเอสอาร์ทีเอ ได้มีการจัดทำแผนการสร้างรายได้ให้กับ รฟท. ด้วยการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริหารจัดการสัญญาเช่า จำนวน 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การบริหารสัญญาเช่าที่ได้รับมอบจาก รฟท. จำนวนสัญญารวมทั้งหมด 12,934 สัญญา มูลค่ารวม 3,182.85 ล้านบาท  2.การจัดหาผู้ลงทุนมาลงทุนพัฒนาโครงการบนที่ดินของการรถไฟฯ 

3.การเช่าพื้นที่จาก รฟท. เพื่อพัฒนาเองเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว 4.การซื้อหรือเช่าที่ดินจากบุคคลภายนอกมาพัฒนาเองหรือการร่วมทุน  เช่น การซื้อที่ดินเอกชนที่ติดกับการรถไฟ ซึ่งเป็นที่ตาบอดเมื่อพัฒนาแล้วจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และ 5.ธุรกิจบริการอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ เช่น การร่วมทุนกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน

.ชูโมเดลญี่ปุ่นต้นแบบ-ปั้นแผนควิกวินประมูลที่ดิน

“แนวทางการดำเนินงานของเอสอาร์ทีเอฯ ได้มีการศึกษาโมเดลของบริษัทต่างประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ เช่น จากกลุ่มธุรกิจ เจอาร์ คิวชู ของประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่ได้มีแค่การบริหาสินทรัพย์ แต่ยังมีการศึกษาเข้าไปลงทุนในบริษัทรายย่อยต่างๆ ด้วย เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พัฒนาอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม อาคารจอดรถ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ซึ่งบริษัทลูกของ รฟท. ก็มีแนวทางที่จะเข้าทำด้วยเช่นกัน” 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ยังได้กำชับให้ เอสอาร์ทีเอ จัดทำแผนควิกวินในการสร้างรายได้ระยะสั้น ด้วยการเน้นบริหารสัญญาเช่าให้จ่ายค่าเช่าสม่ำเสมอ ต่อสัญญาเช่าที่กำลังหมดอายุ 2,977 สัญญา และหาผู้เช่ารายใหม่เพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับค่าเช่าที่ดีขึ้น และที่สำคัญให้เร่งหาผู้ลงทุนเข้ามาลงทุนในที่ดินของ รฟท. โดยมีโครงการสำคัญ เช่น แปลงโรงแรมหัวหินและสนามกอล์ฟหัวหิน  รวมถึงที่ดิน 3 แปลงใหญ่มูลค่ากว่าอีก 3.4 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่ นิคมรถไฟ กม.11 เชิงพาณิชย์ 359 ไร่ มูลค่า  17,424 ล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่สถานีแม่น้ำ 278 ไร่  มูลค่า 13,320 ล้านบาท และ โครงการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ เชิงพาณิชย์โซนเอ 32 ไร่ มูลค่า 3,853 ล้านบาท 

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนเช่าพื้นที่ รฟท. มาพัฒนาเอง เช่น ตลาดนัดสวนจตุจักร แปลงรัชดา อาร์ซีเอ และที่ดินสถานีธนบุรี คลองสาน แปลงบางซื่อแปลงเอ  รวมถึงการซื้อ เช่าซื้อที่ดินจากเอกชนมาเพิ่มเติม โดยเบื้องต้นได้พิจารณาดูที่ดินตาบอดด้อยศักยภาพในย่านศูนย์กลางธุรกิจที่ติดกับที่ดินของ รฟท. เช่น ย่านรัชดา พระรามเก้า อาร์ซีเอ คลองตัน รามคำแหง เพราะหาซื้อมาแล้วจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพย์สินได้อีกมาก ส่วนแหล่งเงินทุนมีทางเลือกให้ใช้หลายทาง เช่น การแปลงรายได้ในอนาคตเป็นหุ้น หรือการออกหุ้นกู้ เป็นต้น

.สร้างรายได้สะสมทะลุ 1.2แสนล้าน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนแผนการเข้าไปร่วมลงทุนกับเอกชน เอสอาร์ทีเอ มีแผนเข้าร่วมลงทุนทั้งรูปแบบพีพีพี รวมถึงการร่วมทุนเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเอกชนอื่น เช่น การถือหุ้นไม่เกิน 25% ถือหุ้นไม่เกิน 50% และถือหุ้นเกิน 50% อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนเหล่านี้จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายก่อน เช่น ขอยกเว้น  พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างเฉพาะ มาตรา 7 กิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ข้อยกเว้นมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ซึ่งอาจเป็นแผนในระยะถัดไป

ทั้งนี้จากการดำเนินการดังกล่าว คาดว่าการจัดตั้งบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด จะช่วยให้ รฟท. มีรายได้และผลตอบแทนในการบริหารทรัพย์สินที่ดินเพิ่มสูงขึ้น โดยปี 2564 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดตั้งเอสอาร์ทีเอนั้น จะมีรายได้ 3,070 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นในปี 65 เป็น 3,834 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายระยะยาว 10 ปีคาดว่าจะสามารถทำรายได้ในปี 2574 เพิ่มขึ้นถึง 18,239 ล้านบาท รวมมีรายได้สะสมตลอด 10 ปีกว่า 1.24 แสนล้านบาท  

ที่สำคัญข้อดีในการจัดตั้งเอสอาร์ทีเอ ยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ทำให้ได้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีการแบ่งโครงสร้างการบริหารงานชัดเจน มีความคล่องตัว สามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสร้างรายได้ในการบริหารสินทรัพย์ให้แก่ รฟท. ได้อย่างยั่งยืน