“ศักดิ์สยาม”อัดมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนลดค่าโดยสารรถไฟฟ้ากระจุย

คมนาคมเปิดแผนลดค่าครองชีพ-รฟม.ผุดตั๋วเที่ยว ลดราคา40% ทางหลวง เล็งดึงเงินกองทุนค่าผ่านทางชดเชยลดราคา 10% ด้านขสมก.เล็งถก ปตท.ขอลดค่าก๊าซ พร้อมทำตั๋ว”สัปดาห์ –เดือน” ขายถูกลง ขณะที่โทลล์เวย์ลดแล้ว 5% คูปองผ่านทาง- บขส.พร้อมปรับลดเพิ่ม ด้าน “ศักดิ์สยาม” นึกได้ให้ ทล.-การทาง ลดค่าผ่านทางรถบรรทุกขนาดใหญ่ หวังจูงใจใช้ทางด่วนอัตโนมัติลดปัญหาตราจรหน้าด่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคม ถึงมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางราง(ขร.)อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับลดค่าโดยสารของการขนส่งสาธารณะทุกโหมด เบื้องต้นได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ  ปริมาณผู้โดยสารทั้งช่วงพีคและออฟพีค ,รายได้ รายจ่ายของผู้ดำเนินการแต่ละราย  ,แหล่งรายได้ของผู้ดำเนินการแต่ละราย  รวมถึงศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับแหล่งกองทุนต่างๆ เพื่อนำทางนำเงินจากกองทุนต่างๆมาสนับสนุนการปรับลดค่าโดยสารครั้งนี้  เช่น กองทุนพลังงาน กองทุนภาษีป้ายทะเบียน และกองทุนอื่นๆ   

สำหรับการปรับลดค่าโดยสารในระบบรถไฟฟ้านั้น เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าขึ้นมาคำนวณแนวทางการลดค่าโดยสารในรูปแบบต่างๆแล้ว เบื้องต้น  เตรียมออกมาตรการการจัดทำตั๋วเที่ยว ตั๋วเดือน โดยให้ส่วนลดราคาสูงสุดในช่วงออฟพีคช่วงคนเดินทางน้อย  โดยเริ่มจากรถไฟฟ้าที่อยู่ในกำกับของรัฐ คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)  และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ก่อนคือ  ซึ่งประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีน้ำเงินและต่อขยายสายสีน้ำเงิน  และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรียลลิงค์ ทั้งนี้อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบว่าจะทำให้รัฐขาดรายได้เท่าไหร่ เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารไฟฟ้าต่อไป   

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรฟม.นั้น เบื้องต้นจะมีการทำหนังสือขอความร่วมมือให้ บีอีเอ็ม  ออกผลิตภัณฑ์ตั๋วเที่ยวโดยสารร่วมที่สามารถเดินทางในระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง สีน้ำเงินและส่วนต่อขยาย  เบื้องต้นจะเป็นรูปแบบของตั๋วโดยสารที่จะจำกัดวันและช่วงเวลาในการใช้งาน เช่น ตั๋ว15 วัน, ตั๋ว 20 วัน ,ตั๋ว 30 วัน โดยแต่ละตั๋วจะมีระยะเวลากำหนดว่าจะสามารถใช้ช่วงวันที่เท่าไหร่ถึงวันที่เท่าไหร่ แต่ตั๋วทั้งหมดจะสามารถใช้ในการโดยสารร่วมรถไฟฟ้าได้ทั้ง3 สาย คือ สีม่วง สีน้ำเงิน และสีน้ำเงินต่อขยาย ซึ่งตั๋วรูปแบบนี้จะมีการลดราคาให้ถูกกกว่าตั๋วปกติได้มากถึง30-40%

ส่วนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอตเรียลลิงค์นั้นขณะนี้ได้หารือกับ รฟท. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ เบื้องต้นแอร์พอร์ตลิงค์เตรียมมาตรการที่จะปรับลดค่าโดยสารในช่วงออฟพีค  โดยจะเก็บค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 20บาท สูงสุดไม่เกิน 25 บาท  ปรับค่าโดยสารลดลงจากเดิมที่เริ่มต้นที่ ประมาณ 15 บาท สูงสุดไม่เกิน45 บาท  สำหรับช่วงออฟพีค 3ช่วง คือ 05.30-09.00 น.,10.00-17.00 น. และ 20.00-24.00น. เฉพาะวันธรรมดาเท่านั้นไม่รวมวันเสาร์และอาทิตย์ เนื่องจากช่วงออฟพีคมีจำนวนผู้เดินทางเฉลี่ยประมาณ 70% เท่านั้นยังพอรองรับการเดินทางได้ได้เพิ่มมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ในส่วนของกรมทางหลวง(ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการปรับลดค่าผ่านทางพิเศษทุกประเภท ระหว่าง 5-10 บาท โดยต้องไม่กระทบคู่สัญญากับเอกชนโดย ทล.เตรียมลดค่าผ่านทาง10% สำหรับรถที่ชำระค่าผ่านทางด้วยเอ็มพาส และอีซีพาส เพื่อส่งเสริมการใช้งานETC  เบื้องต้นจะนำเงินกองทุนหมุนเวียนค่าธรรมเนียมผ่านทางมาสนับสนุนการดำเนินการ  ซึ่งขณะนี้ได้เสนอโครงการให้คณะกรรมการบริหารเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางพิจารณาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา 

“หากพิจารณาแล้วไม่สามารถนำเงินกองทุนมาชดเชยการลดค่าผ่านทางได้ ทล. อาจจะต้องออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม โดยแบ่งออกเป็น 2 อัตรา คือสำหรับรถที่ชำระค่าผ่านทางเป็นเงินสด และรถที่ชำระค่าผ่านทางผ่านระบบETC  โดยเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา ทล.ได้ทำหนังสือถามความเห็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว” 

สำหรับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ. )นั้นอยู่ระหว่างปรับลดค่าผ่านทางสำหรับระบบอีซีพาส 5 บาท ที่ด่านประชาชื่น ขาเข้า และด่านดาวคะนอง ขาเข้า ในช่วงเวลา 05.00-09.00น. โดยจะประเมินแนวทางการดำเนินการต่อภายหลังสิ้นสุดโครงการ30 ก.ย.62

นอกจากนั้นในส่วนของแนวทางการปรับลดค่าโดยสารรถประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)นั้น ในเบื้องต้นอาจเพิ่มอัตราส่วนลดค่าโดยสารให้กับ ตั๋วโดยสารประเภท ตั๋วสัปดาห์ ตั๋วเดือนตั๋วนักเรียนและนักศึกษา  ยกตัวอย่างเช่น ในการใช้บริการรถเมล์ปรับอากาศ ผู้โดยสารคนหนี่งใช้บริการขึ้นรถขาไปและขากลับจากบ้าน มีค่าใช้จ่ายต่อวันราว 40 บาท หากเดินทาง1เดือนจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ1200บาท ขสมก.อาจจะมีการให้ส่วนลดสำหรับตั๋วเดือนเช่นอาจจะปรับลดลงเหลือเดือนละ1,000 บาท ส่วนตั๋วโดยสารเงินสดรายวันนั้นหากจะมีการปรับลดราคาโดยไม่กระทบภาระงบประมาณรัฐบาล ขสมก. อาจจะต้องไปเจรจากับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อขอส่วนรถราคาจำหน่ายก๊าซในราคาที่ถูกพิเศษ เพื่อลดภาระต้นทุนจึงจะปรับลดราคาค่าโดยสารได้   

นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงการมาตรการช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนผู้ใช้โทลล์เวย์ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมว่าปัจจุบันโทลล์เวย์มีมาตรการดูแลค่าครองชีพประชาชนอยู่แล้วคือให้ส่วนลด 5% แก่ผู้ที่ซื้อคูปองผ่านทาง ซึ่งที่ผ่านมายังมีการใช้ไม่มากนัก โดยหลังจากนี้จะเร่งให้มีการประชาสัมพันธ์ให้เกิดความรับรู้มากขึ้น แต่จะไม่สามารถลดราคาลงได้มากกว่านี้ เนื่องจากรายได้รวมปีนี้มีแนวโน้มลดลงกว่าปีก่อน เนื่องจากปริมาณผู้ใช้ทางปรับลดลงคาดว่าอาจจะเกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ

ส่วนนายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันรถโดยสารบขส. มอบส่วนลดให้ผู้โดยสาร 10% จนถึงสิ้นเดือนก.ย. 62 ส่วนจะมีมาตรการลดค่าครองชีพเพิ่มเติมอย่างไรนั้น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะเป็นผู้พิจารณาและเสนอให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเป็นผู้พิจารณาตัดสิน ซึ่ง บขส.ไม่ได้ขัดข้องอะไร

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในส่วนของการปรับลดค่าผ่านทางทั้งของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)และ กรมทางหลวง(ทล. )นั้นได้ให้ทั้งสองหน่วยงานพิจารณาที่จะหาแนวทางลดค่าผ่านทางให้กับรถบรรทุกโดยสารขนาดใหญ่ด้วย เพื่อจูงใจให้รถขนาดใหญ่หันมาใช้ช่องทางผ่านตัดเงินอัตโนมัติเพื่อลดผลกระทบการจราจรติดขัดหน้าด่านเก็บเงิน ซึ่งขณะนี้ทาง  ทล. ได้มีการสอบถามไปยัง กฤษฎีกาแล้ว…