“ศักดิ์สยาม”สั่งหน่วยงานคมนาคมระดมสมองถกแก้ปัญกฎหมายเวนคืนที่ดินหวังมาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หารายได้เข้ารัฐ

“ศักดิ์สยาม”สั่งหน่วยงานคมนาคมระดมสมองพัฒนาโครงการเมกะโปรเจค ปรับแนวคิดการเวนคืนนอกจากเพื่อก่อสร้างให้สามารถนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้วย หลังมีข้อติดขัดกฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำได้ มั่นใจหากคลายลอคจะสร้างรายได้ช่วยหน่วยงานรัฐลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ให้นโยบายกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างทั้งหมดว่า หากจะมีการดำเนินการโครงการในอนาคตที่จะต้องมีการเวนคืนที่ดิน เพื่อมาทำการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากเวนคืนเพื่อมาทำก่อสร้างแล้วจะต้องมีการคิดเผื่อที่จะเวนคืนที่ดินนำพื้นที่มาพัฒนาในเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้ประกอบด้วย เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ประโยชน์ครอบคลุมมากที่สุดในการพัฒนาและจะเป็นส่วนหนึ่งหากมีการหารายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์จะทำให้หน่วยงานในโครงการนั้นสามารถนำรายได้ดังกล่าว มาลดต้นทุนที่ประชาชนรับภาระลงได้ เช่น ค่าผ่านทาง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามตนเข้าใจว่า ในปัจจุบันข้อจำกัดเงื่อนไขในการเวนคืนที่ดิน นอกจากเวนคืนเพื่อมาสร้างถนน สร้างรถไฟฟ้า สร้างทางด่วน แล้ว ในข้อกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้หน่วยงานรัฐ สามารถเวนคืนที่ดินเพื่อมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ แต่ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไป การพัฒนาต้องไปควบคู่กัน ขณะเดียวกันหากมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รายได้จากส่วนนี้จะสามารถนำมาอุดหนุนและช่วยลดภาระให้กับประชาชนผู้ใช้บริการได้ ดังนั้นจึงได้ให้เป็นนโยบายกับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพิจารณาแล้วมีข้อจำกัด ด้านกฎหมาย ได้ให้ไปเร่งพิจารณาเพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขช่องโหว่ดังกล่าว มาปรับให้ถูกต้องตามเงื่อนไขข้อกฎหมายก่อนนำไปปฎิบัติ

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ซึ่งโครงการในอนาคตที่กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการที่จะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ควบคู่กับการก่อสร้าง ประกอบไปด้วย โครงการรถไฟฟ้า ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ที่ในระยะต่อไปจะต้องสร้างเพิ่มในระยะที่ 2 ,โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ที่จะขยายในเฟส2 และเส้นทางรถไฟสายใหม่ ,โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์ ของกรมทางหลวง(ทล.) รวมถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) และ โครงการก่อสร้างทางด่วน ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)ในอนาคต เป็นต้น

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งในส่วนของกรมทางหลวงมีความพร้อมที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าว และได้ส่งการให้ฝ่ายกฎหมาย และส่วนงานที่เกี่ยวข้องไปดูในรายละเอียดถึงข้อกฎหมาย เนื่องจากในอนาคตทางหลวงก็มีแผนดำเนนการที่จะก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์อีกหลายเส้นทางใหม่ๆทั่วประเทศ ดังนั้นจะให้มีการศึกษารูปแบบ ความเหมาะสม ในทุกมิติ  ในด้านการพัฒนาพื้นที่ เพื่อพัฒนาเมือง และเชิงพาณิชย์  ควบคู่กับการก่อสร้างไปด้วย 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ  ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงแนวทาง ที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ หน่วยงานในสังกัด  ที่มีโครงการ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน   หากโครงการเหล่านี้ต้องมีการเวียนคืนที่ดิน  ก็ขอให้มีการพิจารณาเวนคืนพื้นที่ เพื่อนำใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ไว้ด้วย เพื่อเป็นช่องทางให้โครงการเหล่านี้สามารถหารายได้ เพิ่มขึ้น นอกจากรายได้จากการให้บริการเดินรถปกติ 

โดยในส่วนของการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า ในกำกับของรฟม. นั้น ยอมรับว่าจะต้องทำในโครงการใหม่ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล หรือโครงการรถไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค  เนื่องจากจะต้องทำในช่วงการสร้างการรับรู้ต่อชุมชน   และก่อนทำการศึกษาผลกระทบด้วนสิ่งแวดล้อม หรือ EIA  ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนที่จะออกพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) เวนคืนที่ดิน  โดนในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสำคัญภายในเมือง เช่น สายสีส้มตะวันออกและตะวันตก และสายสีม่วงใต้ ได้ผ่านกระบวนการเหล่านั้นไปแล้ว  รวมทั้งพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน  ปัจจุบัน มีข้อจำกัด  แต่ก็สอดคล้องแนวทางเช่นเดียวกับมหานครอื่นๆทั่วโลก คือการดำเนินการเวนคืน  ต้องทำเท่าที่จำเป็น  ไม่มีการเวนคืนซึ่งเป็นการรอนสิทธิ์ประชาชชนมากเดินไป

ดังนั้นการดำเนินการจัดหาพื้นที่เพื่อมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์นั้น รฟม. จะต้องไปพัฒนาพื้นที่  ตรงจุดที่สร้างขึ้น เพื่อรองรับการเดินทาง ต่อเชื่อมไประบบขนส่งอื่น  ตามคอนเซปท์ การจัดการเดินทาง และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางหลายรูปแบบ (Intermodal Transfer Facility: ITF) เพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งอาจเป็นจุด พื้นที่รอการเดิน ต่อเขื่อมจากระบบรถไฟฟ้า ไประบบขนส่งอื่น ( feeder )  เช่น รถเมล์ รถสองแถว  เป็นต้น

“  รูปแบบดำเนินการ ก็จะคล้ายกับการพัฒนาสถานีบริการน้ำมันชั้นนำ  แต่ไม่ได้จำหน่ายน้ำมัน  แต่ใช้ประโยชน์ เพื่อทำ ITF  อยู่ไม่ไกลจากโครงการ นำมาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สร้างรายได้”  นายภคพงศ์ กล่าว

ส่วน คำถามว่าทำไมไม่มีการพัฒนาย่านการค้าในพื้นที่เวนคืนภายในสถานีเหมือนเมืองชั้นนำ เช่นรถไฟ JR ของญี่ปุ่น  ผู้ว่า รฟม. กล่าวว่า ในประเทศญี่ปุ่นนั้นได้มีการจัดเตรียมพื้นที่หรือเวนคืนมาเป็นเวลานานแล้ว   ซึ่งยังเป็นช่วงที่ประชาชนในเมือง ไม่หนาแน่น จึงทำได้   แต่ปัจจุบันหากมีมีการเวนคืน ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้ามาก   ขัดกับกฎหมายที่ระบุว่าให้ทำเท่าที่จำเป็น  อาจกลายเป็นข้อพิพาท ฟ้องร้องเพื่อรักษาสิทธิ์ของประชาชน   ในศาลปกครอง  ท้ายสุด จะส่งผลกระทบให้โครงการเหล่านี้ล่าช้าไปด้วย