“ศักดิ์สยาม”ลุยเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมหวังสร้างศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถประเทศมั่นใจ!ประเทศไทยขึ้นชั้นติด1ใน3เสือเศรษฐกิจของอาเซียน

“ศักดิ์สยาม”ลุยเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายคมนาคมปี65ทุ่มกว่า 1.4 ล้านล้านบาท “บก น้ำ ราง อากาศ”สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.24 ล้านล้านบาท จ้างงานในระบบกว่า 154,000 ตำแหน่ง ดันจีดีพีโต 2.35% มั่นใจ!ประเทศไทยจะตืด1ใน3เสือเศรษฐกิจของอาเซียน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยในงานประชุมเสวนา “Better Thailand Open Dialogue : ถามมา -ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” พร้อมร่วมเสวนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร” เกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยว่า กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด คมนาคมก็ไม่ได้หยุดหรือชะลอการลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายคมนาคม โดยกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2558-2578)ตามนโยบายรัฐบาลใน 4 มิติ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง 

โดยในปี 65 จะมีโครงการลงทุนทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในวงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 2.24 ล้านล้านบาท นอกจากนั้นยังมีการคาดการณ์เบื้องต้นว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 154,000 ตำแหน่งและมีส่วนที่จะต้องจัดหาวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องจักร และยานพาหนะต่าง ๆ ประมาณ 1.24 ล้านล้านบาท และจากการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยสูตรคำนวณที่เป็นผลมาจากงานวิจัยของ Global Infrastructure Hub and Cambridge Economic Policy Associates ของสหภาพยุโรป จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ หรือ Multiply Effect ประมาณ 4 แสนล้านบาท/ปี ในปี 2565 หรือ คิดเป็น 2.35% ของ GDP

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า คมนาคมได้มีการลงทุนระบบราง คมนาคมจะมีการก่อสร้างในโครงการรถไฟฟ้ารวมกว่า 14 สี 27 สายทาง ระยะทางรวมกว่า 554 กิโลเมตร ซึ่งจะแล้วเสร็จทุกสายทางเปิดให้บริการได้ในปี 72 และขณะนี้รถไฟฟ้าได้เปิดใช้งานไปแล้วกว่า 7 เส้นทาง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 114 กิโลเมตร คือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเหลือง รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ และในปี 65 จะเร่งรัดก่อสร้างอีก 4 เส้นทางคือ 1.สายสีม่วง ช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ,2.สายสีแดงเข้ม ช่วงช่วงที่ 1 บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และ ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ช่วง รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และ 3.สายสีแดงอ่อน ช่วง ตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วง ตลิ่งชัน-ศิริราช และ 4.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว จาก สมุทรปราการ-บางปู ,รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี

และเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้า ได้มีการดำเนินการในโครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการปฎิวิติระบบโลติสติกส์ของประเทศ ต้นทุนถูกลง เวลาส่งของแม่นยำ ซึ่งตามแผนจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 76-78  ขณะเดียวกันได้มีการดำเนินการในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยังระเบียงเศรษบกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) นอกจากนั้นได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูเส้นทางรถไฟลาวเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับรถไฟเร็วสูงในไทย นอกจากนั้นในส่วนของมิติทางบก ด้านการขนส่งทางถนน ได้มีการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี เป้ฯต้น 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนมิติการขนส่งทางน้ำนั้น ได้มีการดำเนินการ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3  ขณะเดียวกันให้ต่อยอดการขนส่งทางน้ำจาก อีอีซี มายัง โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) บริเวณ ชุมพร-ระนอง ซึ่งตามแผนจะสร้างเสร็จในปี 72และในอนาคตได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีเรือมาขนส่งผ่านเส้นทางนี้เนื่องจากหากไปยังช่องแคบมะละกาจะใช้เวลานาน ส่วนมิติที่4การขนส่งทางอากาศ คมนาคมได้มีการดำเนินการในโครงการ พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา 

“จากการลงทุนในทุกๆด้านจะทำให้ประเทศไทยเข้มแข็ง และ แข็งแรง ที่ผ่านมาประเทศไทย เป็นเสือเศรษฐกิจของอาเซียน และมั่นใจว่าประเทศไทยยังเป็นต่อไปและจะเป็นท็อปทรี”