“ศักดิ์สยาม”ยกทัพรมต.-ส.ส.ภูมิใจไทยลงพื้นที่3จังหวัดอีสานใต้”อำนาจเจริญ-ยโสธร-มุกดาหาร”จัดหนักพัฒนาถนน-ราง-สนามบิน- สะพานมิตรภาพไทย ลาวแห่งที่ 6

“ศักดิ์สยาม”ลุยจังหวัดอีสานใต้ 3 จังหวัด  เร่งพัฒนาระบบขนส่งถนน-ราง- สนามบิน -สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 6 ด้านกรมทางหลวงเร่งเดินหน้าพัฒนาสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 อุบลราชธานี คาดใช้เวลาสร้างแล้วเสร็จในปี 68 มั่นใจกระตุ้นเศรษฐกิจเชื่อมพี่น้องไทย-ลาว พร้อมเดินหน้าพัฒนาสร้างมอเตอร์เวย์ โคราช-ขอนแก่น เชื่อมอีสานตอนล่าง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เพื่อติดตามการพัฒนาโครงการด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในพื้นที่อีสานใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร  และมุกดาหารว่า กระทรวงคมนาคม จะเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนน การก่อสร้างทางหลวงสายใหม่ การพัฒนาระบบราง ทั้งรถไฟทางคู่ ทางรถไฟสายใหม่ รถไฟความเร็วสูง และการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ด้านการคมนาคมขนส่ง รวมถึงการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ทั้งในด้านการเดินทางสัญจร และการขนส่งสินค้าในเส้นทางที่เชื่อมโยงสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่วนโครงการสำคัญในการเชื่อมโยงการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว คือ โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 ซึ่งขณะนี้ทราบว่ารัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาว เมื่อได้ข้อสรุปแล้วกระทรวงคมนาคมก็จะสั่งการให้กรมทางหลวงเร่งเดินหน้าทันที

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.)เปิดเผยว่า กรมทางหลวงมีแผนดำเนินการที่จะพัฒนาโครงข่ายถนนและสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (จ.อุบลราชธานี) ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงทางหลวงหมายเลข 2112(ไทย)กับ ทางหลวงหมายเลข 13 (สปป.ลาว) อ.นาตาล(ไทย)-เมืองละครเพ็ง(สปป.ลาว) ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีระยะทางรวม 1,607 เมตร โดยตัวสะพาน ยาว 1,020 เมตร แบ่งเป็นสะพานฝั่งไทย ระยะทาง 517 เมตร สะพานฝั่งลาวระยะทาง 70 เมตร ใช้วงเงินลงทุนรวม 4,365 ล้านบาท 

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้มีการออกแบบแล้วเสร็จ ตั้งแต่ 6 ธ.ค.61 โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างรอข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลไทย กับ สปป.ลาว ในการดำเนินการในโครงการ โดยคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถเจราเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนว่าจะเป็นการลงทุนฝ่ายละ 50 % ของมูลค่าโครงการ เหมือนโครงการอื่นหรือไม่โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปี 2563  หลังจากนั้นในปี 2564- 2565 ก็จะดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการ  หลังจากนั้นคาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 2566 แล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2568

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีว่าการคมนาคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. คาดว่าจะสามารถเปิดบริการในปี 2566 และเตรียมการก่อสร้างต่อขยาย จากนครราชสีมา – ขอนแก่น ระยะทาง 202 กม. ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 เพื่อคลี่คลายปัญหาการจราจรและเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน ส่วนโครงการในพื้นที่อีสานใต้ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอำนาจเจริญ กรมทางหลวง (ทล.) ได้จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาโครงการต่างๆ กว่า 10,823 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 202 ยโสธร – อำนาจเจริญ ตอนยโสธร – บ.น้ำปลีก

ตอน บ.น้ำปลีก – บ.หนองผือ และตอน อ.ปทุมราชวงศา – อ.เขมราฐ รวมถึงทางหลวงหมายเลข 2112 

ตอนเขมราฐ – ปางแซง – หนามแท่ง และทางเลี่ยงเมืองอำนาจเจริญ เพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน

ที่สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6 อุบลราชธานี (อำเภอนาตาล) – สาละวัน (เมืองละคอนเพ็ง) 

โครงการรถไฟความเร็วสู ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและเตรียมลงนามสัญญา คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 และช่วงนครราชสีมา – หนองคาย อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570 ซึ่งจะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง Belt & Road Initiative เชื่อมไทยไปสู่โลก

นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการโครงข่ายร่วมกันระหว่างทางรถไฟกับมอเตอร์เวย์ (MR-MAP) (Motorways + Rails) ซึ่งจะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคม ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน และลดภาระในการลงทุนของภาครัฐ โดยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) หนองคาย – แหลมฉบัง 2) บึงกาฬ – สุรินทร์ 3) ตาก – นครพนม และ 4) กาญจนบุรี – อุบลราชธานี

สำหรับการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมทางอากาศ ได้ดำเนินการพัฒนา และปรับปรุง ท่าอากาศยาน 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี พร้อมทั้งเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าอากาศยานมุกดาหาร ที่ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางและเสริมศักยภาพจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นประตูสู่อินโดจีนอีกด้วย