“ศักดิ์สยาม”มั่นใจสุวรรณภูมิส่วนต่อขยายเปิดให้บริการปี65

  • ย้ำ!อาคารส่วนต่อขยายทิศเหนือต้องมี
  • สั่งทอท.ช่วงผู้โดยสารน้อย ทุ่ม 4,700 ล้านบาท ซ่อมใหญ่แท็กซี่เวย์และลานจอด
  • รองรับปริมาณผู้โดยสารรวมกว่า 90 ล้านคนต่อปี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT1) สนามบินสุวรรณภูมิ และมอบนโยบาย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ว่า แม้ว่าช่วงนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายนั้น ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ขอยืนยันว่าการพัฒนาและขยายขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิจะยังคงต้องมีอยู่ โดยเฉพาะโครงการต่อขยายอาคารทางด้านทิศเหนือสนามบินสุวรรณภูมิ (North Expansion) ที่มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเพื่อรองรับผู้โดยสาร15ล้านคนต่อปี และเมื่อรวมกับขีดความสามารถเดิมของอาคารผู้โดยสารปัจจุบันที่รับได้ 45 ล้านคนต่อปีก็จะรองรับได้ถึง 60 ล้านคนต่อปี

ส่วนความคืบหน้าล่าสุดของโครงการต่อขยายอาคารทางด้านทิศเหนือสนามบินสุวรรณภูมิขณะนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้ให้ กระทรวงคมนาคม โดย ทอท. ได้ส่งข้อมูลความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังนี้เพิ่มเติม ซึ่ง ทอท.จะเพิ่มเติมข้อมูลรวมทั้งความเห็นของผู้ประกอบการสายการบิน ทั้งที่ก่อนมีการแพร่ระบาดเชื้อโควิดและสถานการณ์ขณะนี้มารวบรวมเสนอสภาพัฒน์ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้นอกจากโครงการต่อขยายอาคารทางด้านทิศเหนือสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วในส่วนของการก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 ของสุวรรณภูมิก็มีความสำคัญ โดยงานก่อสร้างได้เริ่มมาแล้วกว่า 1 เดือน ซึ่งตามแผนงานก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 66 เมื่อรวมกับการขยายขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิในเฟสที่ 2 ก็จะผลักดันให้สนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อปี

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ส่วนความคืบในการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT1) สนามบินสุวรรณภูมินั้นจากการลงพื้นที่พบว่าอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 มีความคืบหน้าในภาพรวมไปกว่า 95% คงเหลืองานตกแต่งภายใน และการติดตั้งระบบต่างๆเช่นสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) คืบหน้า 75.5% และรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) คืบหน้า 72%หลังจากนั้นจะเป็นการทดสอบระบบเตรียมพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 65 เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 15ล้านคนต่อปี

นายศักดิ์สยาม ยังได้กล่าวต่อว่า ในช่วงที่สถานการณ์โควิดระบาดและทำให้จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิลดลง ดังนั้นในช่วงนี้ก็ขอให้มีการดำเนินการซ่อมใหญ่พื้นที่รันเวย์ แท็กซี่เวย์ ที่มีการเสื่อมสภาพชำรุดในช่วงที่ผ่านมา แต่ในช่วงที่เที่ยวบินคับคั่ง หรือก่อนสถานการณ์โควิดรวมทั้งเมื่อการก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 ยังไม่แล้วเสร็จ ก็สามารถหาช่วงเวลาในการซ่อมบำรุงใหญ่ได้ยาก ดังนั้นในช่วงนี้ก็ขอให้เร่งรัดโครงการซ่อมใหญ่ทันที คาดว่าจะใช้งบประมาณรวม 4,700 ล้านบาท ซึ่งตามแผนจะเริ่มซ่อมสามารถดำเนินการตั้งแต่ปี 65แล้วเสร็จในปี 68

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า สำหรับงานซ่อมใหญ่ วงเงิน 4,700 ล้านบาทนี้จะเป็นการซ่อมใหญ่ในพื้นที่ของแท็กซี่เวย์และลานจอด เนื้อที่ 700,000 ตารางเมตร ส่วนการซ่อมรันเวย์หรือทางผ่านแดนอนาคตนั้น ก็จะต้องมีการดำเนินการด้วยเช่นกัน จะแยกเป็นอีกหนึ่งโครงการ เนื่องจาก การจะซ่อมรันเวย์นั้นจะต้องมีการหารือร่วมกันกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. เพื่อให้ กพท. นำไปหารือร่วมกับสายการบิน เพื่อสอบถาม การใช้ SLOT การจัดสรรเวลาการบิน ที่สนามบินกำหนดให้สายการบินต่างๆทำการบินขึ้นลง ยังสนามบินนั้นๆ ซึ่งสายการบินแต่ละแห่งว่าปัจจุบันนี้มีการใช้งานจริงมากน้อยแค่ไหน โดยหากยังไม่มีการใช้งาน ก็จะสามารถทำให้การปิดซ่อมพื้นที่ได้รับความสะดวกมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะต้องรอผลการเจรจาเพื่อกำหนดกรอบเวลาเริ่มการซ่อมอีกครั้ง ซึ่งก็คาดว่าจะชัดเจนในปี 64

ส่วนผลประกอบการของ ทอท. ในปี 63 คาดว่าจะมีกำไรหลักพันล้านบาท แต่ในปี 64 น่าจะประสบปัญหาขาดทุน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะขาดทุนมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่า วัคซีนโควิด จะออกมาเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะขาดทุนก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน และหากจะต้องพิจารณาการกู้เงินก็คงต้องกู้เพราะ ทอท. คงจะกู้ระยะสั้นมากกว่า เพราะจากการประเมินพบว่าปลายปี 65 สถานการณ์โควิดน่าจะคลี่คลาย พอถึงขณะนั้นการดำเนินการของ ทอท. ก็จะมีสภาพคล่องเข้ามาปกติ ซึ่งหากสถานการณ์ปกติ ทอท. จะมีเงินสดสภาพคล่องจากการดำเนินการกว่าปีละ 35,000 ล้านบาทต่อปี….