“ศักดิ์สยาม”ถอยกรูดไม่ใช้แบร์ริเออร์ยางหลังต้นทุนพุ่งสูงขึ้น2,000%

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากที่มีการประชุมทบทวนปริมาณการใช้ยางพาราในโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมปี 63 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่ประสบปัญหาราตกต่ำนั้น ที่ประชุมได้มีมติที่จะนำยางพารามาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยด้านการคมนาคมขนส่งเพิ่มมากขึ้นในหลายรูปแบบทั้งทางถนน ทางรถไฟ และทางน้ำ

นอกจากนั้นยังได้ให้นโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมทางหลวง(ทล.) และกรมทางหลวงชนบท(ทช.)ที่จะต้องมีโครงการก่อสร้างถนนใหม่ในปีงบประมาณ 63 ให้ยกเลิกการจัดทำเกาะกลางถนนของกรมทางหลวง(ทล.) และกรมทางหลวงชนบท(ทช.) ทั้งหมด โดยให้เปลี่ยนจากการก่อสร้างเกาะกลางถนน มาเป็นการนำอุปกรณ์ความปลอดภัยมาใช้กั้นถนนแทน ซึ่งที่ประชุมมีมติ ไว้2 ทางเลือก คือ จัดทำแบร์ริเออร์ปูนซีเมนต์หุ้มด้วยยางพารา หรือ จัดทำลวดสริงหุ้มด้วยยางพาราแทน ส่วนแนวทางที่เคยมีแนวคิดที่จะทำแบร์ริเออร์ยางพาราทั้งอันมากั้นระหว่างเลนถนนนั้น พบว่ามีต้นทุนที่สูงเกินไป

ขณะเดียวกันได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับศึกษาข้อดี ข้อเสียของอุปกรณ์ทั้ง2 ชนิด ,ขั้นตอนการขอตรวจรับรองมาตรฐานความปลอดภัยอุปกรณ์ซึ่งอาจจะต้องไปตรวจรับรองที่ประเทศเกาหลี รวมทั้งประสานไปยังกรมบัญชีกลางให้กำหนดราคากลางอุปกรณ์ความปลอดภัยทั้ง2 ชนิดด้วย โดยให้นำผลการศึกษา กลับมาเสนอให้ตนพิจารณาตัดสินใจภายใน 2สัปดาห์

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ทั้งนี้การศึกษาจะต้องตอบโจทย์สำคัญดังนี้ ราคาไม่แพง,ต้องก่อสร้างได้เร็ว , มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสาวนยางได้ และต้องมีรูการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้ชาวสวนยางสามารถผลิตน้ำยางข้นได้ตามมาตรฐานและขายตรงให้กับ ทช. และทล ได้เองโดยไม่ผ่านบริษัทหรือโรงงาน เพื่อให้เงินตกถึงมือเกษตรกรโดยตรง

“ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่าอุปกรณ์แบร์รี่เออร์ปูนซีเมนต์หุ้มยางพารา และลวดสริงหุ้มยางพารา นั้นมีสัดส่วนการใช้ยางพาราได้มากถึง95% ซึ่งถือว่ามากกว่าการนำยางพาราไปทำถนนในปัจจุบันซึ่งมีสัดส่วนการใช้ยางพาราเพียงแค่ 5%เท่านั้น ทำให้ที่ผ่านมาเรามีปริมาณการใช้น้ำยางสดในการทำถนนน้อยมาก โดยปีงบประมาณ62 ทล และทช. ใช้ปริมาณน้ำยางสดรวมกันเพียง 34,300 ตันเท่านั้น ที่สำคัญเงินไม่ถึงมือเกษตรกรด้วยซึ่งในอนาคตอาจจำเป็นต้องลดการทำถนนยางพาราลงด้วย แต่หากเรานำน้ำยางดิบมาผลิตเป็นแบร์รี่เออร์หรือ สริงเราจะใช้ปริมาณยางเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าว่าจะใช้ไม่ต่ำกว่าปีละ2แสนตันแน่นอนซึ่งจะช่วยดึงราคายางพาราให้สูงขึ้นได้ ”

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีถนนของ ทล. และทช.ที่ยังไม่มีเกาะกลางและสามารถเปลี่ยนเป็นแบรร์ริเออร์หุ้มยางหรือรวดสริงหุ้มยางได้รวม 2,203กิโลเมตร แบ่งออกเป็นถนน ทล 1,994 กิโลเมตร และทช.209 กม. นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการพิจารณาแนวทางการนำยางพารามาใช้ในวัสดุอื่นๆอีก เช่น ยางกันกระแทกท่าเรือ แผ่นรองรางรถไฟ เสาหลักนำทาง เสาป้ายจราจร หลักกิโลเมตรย่อย เสาล้มลุก ขอบคันหินทางเท้า แผ่นทางเท้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่นายศักดิ์สยาม ได้สั่งปรับเปลี่ยนจากการใช้แบรร์รี่เออร์ยางพารา เป็น แบรร์ริเออร์เคลือบยางพารามาทำเกาะกลางถนนแทนนั้น เพราะจาก ผลการศึกษาของ ทล ปรากฎว่าหากนำยางพารามาเป็นส่วนประกอบในการผลิตแบร์เออร์ยางพาราทั้งอันทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก ส่งผลให้แบร์ริเออร์ยางพาราทั้งอันมีราคาสูงกว่าแบร์ริเออร์ปัจจุบันที่ทำจากปูนซีเมนต์มากถึง2,000% โดยแบร์ริเออร์ปูนซีเมนต์ราคาอยู่ที่ 2,000 บาท/เมตร ส่วนแบร์ริเอร์ยางพาราอยูที่42,000 บาท/เมตร

ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ จะมีราคาเพิ่มขึ้นดังนี้ เช่น หลักกิโลเมตรราคาจะเพิ่มจาก หลักละ500 บาท เป็น 1900บาท เสาป้ายจราจร เพิ่มจากต้นละ1050บาท เป็น5000 บาท เสาหลักนำทางจะเพิ่มจากหลักละ750บาท เป็น 1950บาท เสาล้มลุกจะลดลงจากต้นละ 1774บาท เหลือ700 บาท เป็นต้น