ศปถ. สรุปสถิติอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ 11-16 เม.ย. เกิดรวม 1,720 ครั้ง เสียชีวิต 237 ราย

  • เผยสถิติเมื่อวานนี้ 16 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุ 241 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 246 คน ผู้เสียชีวิต 28 ราย
  • สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ขับรถเร็วเกินกำหนด รองมาดื่มแล้วขับ
  • ศปถ. สั่งกำชับเพิ่มความถี่ เรียกตรวจความพร้อมผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เม.ย. 2565 เกิดอุบัติเหตุ 241 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 246 คน ผู้เสียชีวิต 28 ราย โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด 41.49% ดื่มแล้วขับ 25.31% 

ทั้งนี้ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 84.34% รองลงมา รถปิกอัพ 6.43% ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 18.01 – 19.00 น.

สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (11 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (3 ราย) มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 70,180 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย19,264 ราย ไม่มีใบขับขี่ 18,388 ราย

สำหรับสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน (วันที่ 11 – 16 เม.ย. 2565) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,720 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,696 คน ผู้เสียชีวิต 237 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (62 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ (60 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (11 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตรวม 10 จังหวัด ได้แก่ นครพนม บึงกาฬ ปัตตานี ยะลา ระนอง ลำพูน สมุทรสงคราม สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า วันนี้เป็นวันหยุดปิดท้ายเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ทำให้ปริมาณการจราจรหนาแน่นในเส้นทางสายหลัก-สายรอง ที่เชื่อมต่อจากภูมิภาคต่างๆ เข้าสู่กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ทาง ศปถ. ได้กำชับจังหวัดให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ทั้งถนนสายหลักและสายรอง โดยพิจารณาเปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ ประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยง ทางลัด เพื่อให้การสัญจรเป็นไปด้วยความคล่องตัว มุ่งเฝ้าระวังจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งจุดตัดทางรถไฟ ทางแยกทางร่วม และบริเวณที่มีการก่อสร้างถนน พร้อมดูแลเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาว เพื่อป้องกันการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด

ตลอดจนเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจความพร้อมของผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนจากการหลับใน รวมทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนที่ยังคงตกค้างบริเวณสถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน ท่าเทียบเรือ และสถานีรถไฟให้เดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย