ศบศ.หาทางช่วยเอสเอ็มอีมีสภาพคล่อง

.สั่งพาณิชย์ออกกฏหมายให้มีเครดิตคู่ค้า30 – 45 วัน

.พบปี 2563 เครดิตเทอมขยายเป็น 60-120 วัน

.แก้เงื่อนไขสมาร์ทวีซ่าดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและส่งคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ว่า ที่ประชุมศบศ.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาเครดิต หรือ Credit term ในประเทศไทยให้มีผลบังคับใช้และมีบทลงโทษตามกฏหมาย ตามข้อเสนอของ สศช.และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่เป็นผู้จัดส่งสินค้าและวัตถุดิบการผลิต (ซัพพลายเออร์) ของธุรกิจขนาดใหญ่ โดยลูกหนี้การค้าจะต้องชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายในระยะเวลา 30 – 45 วัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเภทธุรกิจ


“ก่อนหน้านี้ในปี 2559 เครดิต เทอม ของธุรกิจ จะอยู่ในช่วง 30-45 วัน แต่ในปี 2563 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลการศึกษาออกมาว่า ขยายเป็น 60-120 วัน ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีปัญหาสภาพคล่อง หากต้องการให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ก็ต้องหาสินเชื่อเพิ่มเติม ซึ่งที่ประชุม ศบศ.ครั้งนี้ เห็นว่าควรกำหนดมาตรฐานให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีกำลังต่อรองได้และให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อให้ได้เครดิต เทอมที่เหมาะสม”
ทั้งนี้ นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) แจ้งด้วยว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.กำลังดำเนินการและเห็นด้วยกับการกำหนดมาตรฐานเครดิต เทอมให้อยู่ที่ 30 วัน เพื่อรักษาธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีสภาพคล่องเพียงพอดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้หยิบยกข้อเสนอการของยืดการพักชำระหนี้ให้เอกชนออกไปอีก 2 ปี


รองเลขาธิการ สศช. กล่าวต่อไป ว่า ศบศ.มีความเห็นด้วยว่า ให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)กำหนดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยข้อมูลระยะเวลาเครดิต เทอม ของแต่ละบริษัทโดยเฉลี่ยในการจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี และให้ เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการประเมินการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนให้ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจสำหรับภาคธุรกิจให้มีแนวปฏิบัติที่ดี ในการลดระยะเวลาเครดิตเทอม ซึ่งขณะนี้มีบริษัทขนาดใหญ่ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือเอสซีจี และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ยินดีกำหนดเครดิตเทอม 30 วัน ให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเดินได้


นอกจากนี้ ศบศ.ได้เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ไปปรับเงื่อนไขของสมาร์ท วีซ่า หรือ มาตรการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการวิสาหกิจ ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงขอบเขตของกิจกรรมและอุตสาหกรรมป้าหมายให้กว้างขึ้น โดยให้รวมถึงการพัฒนา Startup Ecosystem และนวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาอื่น นอกเหนือจากด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2.เพิ่มเติมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ไม่มีสัญญาจ้างงานในประเทศ 3.ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำสำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงบางกลุ่ม และการผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานและวุฒิการศึกษาของผู้บริหารระดับสูง และ 4.อนุญาตให้ผู้ถือสมาร์ท วีซ่า ทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับการรับรองได้ในบางกรณี


รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร(Permanent resident permit) เช่น การพิจารณาเพิ่มประเภทคำขอเพื่อเข้ามาลงทุนซื้ออาคารชุดและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ตามมูลค่าที่กำหนด โดยห้ามจำนอง จำหน่าย โอน ภายในระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งยกเว้นหลักเกณฑ์กรกำหนดระยะเวลาการพำนักในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนยื่นคำขอ นอกจากนี้ ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)พิจารณาปรับเงื่อนไขสมาชิกบัตรไทยแลนด์ อีลิท จากที่เน้นนักท่องเที่ยว ให้รวมถึงนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ด้วย