ศบค.เผยโควิดกระจายทั่ว 40 จ.“กทม.”พบสายพันธุ์เดลต้าพุ่ง เร่งกระจายฉีดวัคซีนผู้สูงวัย

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า รายงานสถานการณ์ โควิด-19 ในประเทศไทย ในวันนี้มีผู้ติดเชื้อใหม่ 6,519 รายและมีผู้เสียชีวิต 54 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 2,293 คน คิดเป็น 0.84 % โดยมีผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 67,614 ราย เป็นผู้มีอาการหนัก 2,469 ราย รวมทั้งที่ใส่เครื่องช่วยหายใจมี 676 ราย ซึ่งตัวเลขของผู้มีอาการหนักเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จากที่เคยอยู่ในระดับ 1,000 กว่า และตัวเลขผู้ใส่เครื่องช่วยหายใจประมาณ 300 กว่า

โดยที่ประชุมมีการรายงานระดับอาการของผู้ป่วย สีเขียว คือ ผู้ป่วยไม่มีอาการ หรืออาการไม่มาก สีเหลือง คือ อาการไม่รุนแรงแต่มีโรคประจำตัว ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และสีแดง คืออาการรุนแรง นั้น จะเห็นว่าการระบาดในช่วงต้นเดือนเมษายนจะเป็นลักษณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ จำนวน 80% มีอาการอยู่ในระดับสีเขียว ส่วนสีเหลืองอยู่ที่ 15% และสีแดงอีก 5% แต่ในขณะนี้กลายเป็นผู้ป่วยที่มีอาการในกลุ่มสีเขียวเหลือ 70% สีเหลือง 20% และผู้ป่วยในระดับสีแดง 10% และผู้ป่วยในระดับสีแดง 10 ราย ก็จะมี 4-5 ราย จำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และทุกๆ 10 คนก็จะมีรายงานผู้เสียชีวิต 1-2 คน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขดูแลอย่างใกล้ชิด และนำไปสู้มาตรการการจัดการเตียงและการระดมการรักษาที่สอดคล้องกับบริบทที่เกิดขึ้นได้

สำหรับ ยอดสรุปการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในไทย ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 เวลา 18.00 น. เพิ่มขึ้น 269,653 โดส ทำให้ยอดรวมสะสมตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เป็น 11,328,043 โดส ซึ่งที่จริง เป้าหมายที่อยากจะทำคือ ฉีดวัคซีนให้ดี 300,000-500,000 ต่อวัน แต่ในขณะนี้ยังน้อยกว่าเป้าหมายเล็กน้อย โดยการจำแนกกลุ่ม ที่อยากเพิ่มให้รับวัคซีนมากที่สุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป เป้าหมาย 12.5 ล้านคน ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 ไปแล้ว 12.9% และกลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค เป้าหมาย 5.35 ล้าคน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 15.6%

ด้านรายงานผู้เสียชีวิต ในจำนวน 54 คน อยู่ใน กทม. 30 ราย โรคประจำตัว 3 อันดับแรก คือ 1.ความดันโลหิตสูง 2.เบาหวาน และ 3.ไขมันในเลือดสูง ส่วนอายุ 26-89 ปี ค่ากลางค่อนข้างสูงอยู่ที่ 69 ปี สะท้อนให้เห็นว่าการกระจายของอัตราการเสียชีวิต ถ้าในบุคคลทั่วไป ค่อนข้างต่ำ คือ ใน 100 หรือ 1,000 ราย จะมีผู้เสียชีวิต 1 ราย แต่ถ้าในกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ 10 ราย จะมีผู้เสียชีวิต 1 ราย คิดเป็น 10% เป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง ทำให้ทิศทางนโยบายจึงต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคให้เร็วขึ้น

ส่วนการรายงานผู้ติดเชื้อที่เดินทางจากต่างประเทศมี 16 ราย โดยส่วนเป็นคนไทยที่เดินทางกลับบ้าน ซึ่งที่เดินทางมากจากกัมพูชา มี 5 ราย ในจำนวนนั้นมี 1 รายเดินทางมาจากช่องทางธรรมชาติ อย่างที่เห็น คือคนกลุ่มนี้ไม่มีอาการและเข้ามาก็ตรวจพบเชื้อได้ตั้งแต่วันแรกๆ ดังนั้น เป็นกลุ่มที่เราต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

สำหรับทิศทางการวางแผนมาตรการโควิด-19 จากรายงานกราฟ จะเห็นว่า เส้นที่แสดงจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล กับพื้นที่ต่างจังหวัด ของวันนี้ (7 กรกฎาคม) เส้นทั้งสองได้บรรจบกัน หมายความว่าปริมาณผู้ติดเชื้อ ของทั้งสองพื้นที่ เท่ากันที่ 50-50 จากเดิม ที่ กทม.และปริมณฑล จะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า และในต่างจังหวัดมีเพียงเล็กน้อย กระจายไม่กี่จังหวัด สะท้อนให้เห็นว่ามีประชาชนจากพื้นที่สีแดงเดินทางข้ามไปต่างจังหวัด ทำให้มีการกระจายการติดเชื้อไปยัง 40 จังหวัดแล้ว ภาคเหนือ 11 จังหวัด ภาคกลางและตะวันออก 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด โดยพบผู้ติดเชื้อถึง 218 ราย และภาคใต้อีก 3 จังหวัด

ส่วน กทม. พบว่ามีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ที่พบครั้งแรกในอินเดีย เริ่มรายงานมากขึ้น ทำให้คาดคะเนว่า ที่กระจายไปยังต่างจังหวัดจะเป็นสายพันธุ์เดลต้าด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบัน สายพันธุ์อัลฟ่า ที่มาจากอังกฤษลดลง