“วิษณุ”เผยนายกรัฐมตรียังไม่ยื่นทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการยื่นทูลเกล้าฯร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถึงมือนายกฯแล้วตั้งแต่วันที่ 27ก.ย. ว่า กรอบเวลาการยื่นทูลเกล้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 เมื่อรัฐสภาส่งมาถึงมือนายกฯต้องเก็บไว้ 5 วันเป็นภาคบังคับเมื่อครบให้บวกไปอีก 20 วันจะทูลเกล้าฯเมื่อใดก็ได้ใน 20 วันนี้ ต่อข้อซักถามที่ว่า ระยะเวลา 20 วันนี้ นายกฯสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้านายกฯจะยื่นต้องยื่นตามมาตรา 148 ถ้าอ่านดูจะเห็นว่าผู้ที่จะยื่นได้คือ ส.ส. กับนายกฯ แต่เป็นการใช้กับ พ.ร.บ. ไม่ได้ใช้กับรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามย้ำว่า ตอนนี้นายกฯไม่มีอำนาจยื่นตีความได้แล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าตนตอบแค่นี้ เพราะมาตรา 148 ใช้กับพ.ร.บ.

เมื่อถามว่ากรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ยื่นตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน จะกระทบกับการยื่นทูลเกล้าของนายกฯหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่กระทบ การยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินไม่เกี่ยวกับกำหนดเวลาเป็นกฎหมายแล้วก็ยังยื่นได้เป็นเรื่องของเขาอยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับหรือไม่ถือเป็นคนละส่วนกัน

“ผมเข้าใจว่ารัฐบาลเตรียมการนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ตอบไม่ถูกว่าจะนำขึ้นช่วงไหนเพราะมันต้องอยู่ในช่วง 20 วันเวลานี้เลย 5 วันแรกมาแล้วตอนนี้อยู่ในช่วง 20 วันก็อยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะพิมพ์เสร็จเมื่อไหร่ และเมื่อทูลเกล้าฯไปแล้วจะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยได้ 90 วัน เมื่อครบ 5 วัน บวก 20 พอขึ้นไปปั๊บให้นับหนึ่งตรงนั้นไปอีก 90 วัน” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่าหากมีการทูลเกล้าฯร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว หากเกิน 90 วันยังไม่มีการโปรดเกล้าฯร่างดังกล่าวจะตกไปเลยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 147 แต่ก็ไม่เชิงตกเพราะมีช่องให้สภายืนยันอีกครั้งภายใน 30 วัน

เมื่อถามว่าในหลวงสามารถคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าทรงมีพระราชอำนาจในการวีโต้พ.ร.บ.ใน 90 วัน ถามว่าเคยเกิดขึ้นหรือไม่ ก็เคยสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ 9 ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เคยวีโต้พ.ร.บ. 3 ฉบับ ประธานาธิบดีสหรัฐก็ทำบ่อย

เมื่อถามว่าดูจากไทน์ไลน์ต่อจากนี้ไม่น่าจะมีอะไรสะดุดใช่หรือไม่ ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญและกติกาเลือกตั้ง นายวิษณุ กล่าวว่า มันจะสะดุดก็เรื่องเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ แต่เวลานี้ยังไม่มีการยื่น

เมื่อถามว่าระหว่างนี้หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งจะต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตามรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้แล้วในมาตรา 147 หากร่างพ.ร.บ. หรือร่างรัฐธรรมนูญใดที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องตกไป แต่ถ้าได้รับความเห็นชอบแล้วมันไม่ตก เว้นแต่จะไม่โปรดเกล้าลงมาภายใน 90 วัน เพราะฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลออกหรือยุบสภาหรือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้ารัฐธรรมนูญนั้นประกาศใช้ต้องเดินต่อไป แต่ตนไม่กล้าบอกว่าถ้ายุบสภาตอนนี้แล้วใช้รัฐธรรมนูญใหม่ก็เพราะว่ายังไม่ได้โปรดเกล้าฯลงมา ถามว่ายังต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯหรือไม่ ก็ยังต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ และยังทรงมีเวลา 90 วัน ถ้าโปรดเกล้าลงมาตรงนี้ตนถึงเคยบอกไว้แล้วว่ามันจะยุ่งหากเกิดเหตุการยุบสภาในตอนนี้เนื่องจากขณะที่ยุบสภาเรายังนึกว่ามี ส.ส.เขต 350 ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 กกต.ก็ต้องเตรียมการอย่างนี้เพราะยังไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้วพรรคการเมืองก็เตรียมการแบบนี้แล้วอยู่ๆเกิดมีการโปรดเกล้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลงมาทุกอย่างต้องเปลี่ยนหมดจะไม่เปลี่ยนก็ไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญใหม่มีผลแล้วมันถึงจะยุ่ง

เมื่อถามอีกว่าหากมีการยุบสภาก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้ นายวิษณุ กล่าวว่าไม่มีปัญหาก็จบเรื่องใช้กติกาเดิม บัตร 1 ใบ ส.ส. 350 กับ 150 ถ้าเลือกตั้งเสร็จวันนี้พรุ่งนี้โปรดเกล้า ส.ส.ก็เป็นแบบเดิม จนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ถึงใช้กติกาใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญจะมีผลกับการเลือกตั้งครั้งใหม่เท่านั้น