วิถีเงินร้อน..บาทแข็ง…อุปสรรคฟื้นเศรษฐกิจ!!

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นทางเศรษฐกิจที่พูดถึงกันเป็นพิเศษ ความเป็นห่วงการแข็งค่าของ “เงินบาท” ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่า การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และส่งผลต่อเนื่องถึงการจ้างงาน รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

จนกระทั่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแนวาง 3 มาตรการ ซึ่งจะเร่งดำเนินการในสิ้นปีนี้ และต่อเนื่องในช่วงต้นปีหน้า คือ การเปิดเสรีให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในสินทรัพย์ในต่างประเทศโดยเสรี ไม่จำกัดคุณสมบัติผู้ลงทุน และไม่จำกัดวงเงิน การเปิดให้เสรีในการเปิด และโอนเงินข้ามบัญชีของบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินตราต่างประเทศของคนไทย (FCD) และการขอความร่วมมือในการแสดงตัวตนของผู้ที่จะเข้าซื้อพันธบัตรในประเทศไทยกับธปท.

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแข็งค่าขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนมากถึง 2.9% แต่อย่างไรก็ตาม หากเทียบค่าเงินบาท ล่าสุดวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา เทียบกับวันเดียวกันของปีก่อนคือวันที่ 4 ธ.ค.62 ค่าเงินบาทในช่วงเวลาดังกล่าว แข็งค่าลดลงเหลือประมาณ 0.5% เท่านั้น

แต่ถึงกระนั้น ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญในตลาดการเงิน หรือแม้แต่ ธปท.ยังไม่วางใจ!!!

และเหตุผลของความกังวลของ “ค่าบาทแข็ง” ในปีนี้  ชี้แจงแบบคิดง่ายๆ ได้ 2 กรณี คือ การเข้ามาของเงินร้อนเพื่อเก็งกำไรผลตอบแทนจากอัตราแลกเปลี่ยนในไทย และผลกระทบของ “ค่าเงินแข็ง” ที่มีต่อรายได้ค่าสินค้าของผู้ส่งออกเมื่อตีกลับมาเป็น “เงินบาท”

กรณีแรกนั้น เหตุผลที่ทำให้เกิดความวิตก ก็เพราะ “ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นรวดเร็ว และเกินพื้นฐานของเศรษฐกิจ” ในขณะนี้ทั้งๆ ที่เป็นช่วงโควิด-19 นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากการไหลเข้ามาของเงินทุนตามปกติ และเงินลงทุนในระยะยาว รวมถึงเงินที่เข้ามาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากการส่งออก ซึ่งเป็น “เงินทุนนอก”ที่ประเทศไทยอยากได้ 

แต่เป็นการทะลักของ “เงินร้อน” ที่เข้ามาพักในเงินบาทระยะสั้นๆ เพื่อทำกำไรจากดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนฯ ซึ่งเป็นเงินที่เราไม่อยากได้ และไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจไทยแม้แต่น้อย

สำหรับนิยาม “เงินร้อน” คืออะไร คิดง่ายๆ ว่า เป็นเงินของนักลงทุนต่างประเทศ ที่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่กำลังฟื้นตัว และปลอดโควิด-19 จึงเอาเงินเข้ามาซื้อพันธบัตรระยะสั้นๆ เพื่อหวังเก็งกำไรจากดอกเบี้ยของเราที่สูงกว่าในต่างประเทศ และเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการไหลเข้าของเงินนอก และอีกอย่างที่แตกต่างจากการลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนแบบธรรมดา ซึ่งใครๆ ทำกัน คือจะลงทุนแบบเข้าเร็วออกเร็ว ทำกำไรสั้นๆ หลายๆ ครั้งต่อเนื่อง

และการเข้าออกแต่ละครั้งของเงินร้อนเป็นเงินจำนวนไม่น้อย ซึ่งภายใต้ตลาดการเงินที่อ่อนไหว เศรษฐกิจที่เปราะบาง “เงินร้อน” เหล่านี้สร้าง “ความผันผวน” ที่ไม่ควรเกิดขึ้นให้ “เงินบาท” อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการโค้ดราคาสินค้าส่งออก และการตีค่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ซึ่งสร้างปัญหารุนแรงให้กับผู้ส่งออก

โดยล่าสุด เหตุผลที่ค่าเงินบาทแข็งเร็วๆ ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา คือ แนวโน้มความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติ เอาเงินหนีออกจากสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหากำไรที่มากกว่า และมองว่า เศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวไดเเร็วกว่าคนอื่น  

“เงินร้อนๆ” จึงแห่เข้ามาทำกำไร ทั้งที่ประเทศไทยยังไม่เห็น “จำนวนนักท่องเที่ยวจริงๆ” ที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น หากไม่ต้องการให้ “ค่าเงินบาทแข็งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประเด็นแรก การแยกแยะ “เงินลงทุนจริง” และ “เงินร้อน” ให้ชัดเจน เพื่อจำกัดนักลงทุนที่ไม่พึงประสงค์ เป็นหนทางที่ผู้กำกับดูแลต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด!

ส่วนกรณีที่ 2  “ผลกระทบค่าเงินบาทต่อรายได้ของผู้ส่งออก” นั้น  ผู้ว่าการธปท. “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ระบุว่า  “เงินบาท” จะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับ “บริบท” ของเศรษฐกิจไทยในขณะนั้น

โดยหากย้อนกลับไปในช่วงเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราปกติ และโตต่อเนื่อง “ค่าเงินบาทจะแข็งหรืออ่อนมีผลต่อการขยายตัวของภาคการส่งออกไม่มาก” เมื่อเทียบกับผลของ “การขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า” 

โดยหากเศรษฐกิจคู่ค้าขยายตัวลดลง 1% จะกระทบต่อภาคการส่งออกไทยในขยายตัวลดลงประมาณ 0.5% ขณะที่ “ค่าเงินบาท”ที่แข็งขึ้นกระทบต่อภาพรวมการส่งออกน้อยกว่ามาก

ในช่วงที่เศรษฐกิจดี เราจึงสนใจ “ปริมาณการส่งออก” มากกว่า “รายได้ที่ตีราคากลับมาเป็นเงินบาท”

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ “บริบท”ของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งปริมาณการส่งออกลดลงรุนแรง และต่อเนื่องจากกำลังซื้อของโลดที่ทรุดลง เวลาแบบนี้  “ราคาสินค้า” จึงเป็นประเด็นสำคัญทดแทนปริมาณการส่งออก  

ข้อที่ 1 หากค่าเงินบาทเราแข็งค่าขึ้นเร็วในเวลานี้ จะส่งผลถึง “ราคาขายสินค้าไทย” ที่แปลงเป็นเงินตราต่างประเทศให้แพงขึ้นด้วย และอาจจะทำให้แข่งขันส่งออกของไทยยากขึ้น นอกจากนั้น ข้อที่ 2 ถ้าเราสู้ไหว ขายสินค้าได้แล้ว แต่เมื่อแปลงรายได้ที่ขายได้กลับมาเป็น “เงินบาท” กลับ “ลดลง” จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

ดังนั้น ในเวลาที่เราประสบกับ “วิกฤตเศรษฐกิจ” ซึ่งผู้ส่งออกรายกลาง รายเล็ก ประสบปัญหาต้นทุนสูงขึ้น คำสั่งซื้อลดลง และต้องแบกรับค่าจ้างคนงานในรายที่ไม่ปลดคนงาน หนักหนาอยู่แล้ว คงไม่มีใครต้องการให้ค่าเงินบาทที่แข็งกลายเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” บนหลังลา ซึ่งแน่นอนว่า หากเป็นเช่นนั้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งการส่งออก และการจ้างงานมากขึ้น

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นเเศรษฐกิจ การรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน และการพยุงไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป หรือแข็งค่าเกินพื้นฐาน เป็นอีกหนทางที่ผู้กำกับดูแลต้องทำ แม้จะเป็นหนทางที่มีความเสี่ยงมากว่าหนทางแรก

อย่างไรก็ตาม ธปท.ยอมรับว่า การแทรกแซงตลาดเพื่อลดการแข็งค่า หรือความผันผวนของเงินบาทนั้น ธปท.ได้ดำเนินการมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา แต่ทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น คงไม่สามารถที่จะตั้งป้อมสู้กับแรงเก็งกำไรที่แห่เข้ามา หรือกดค่าเงินบาทลง 2-3 บาทจากวันนี้ อย่างที่ผู้ส่งออกต้องการได้ 

การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนฯ จึงเป็นหนทางที่ผู้ส่งออกต้องทำความเข้าใจ 

ท้ายที่สุด เมื่อสอบถามนักค้าเงินถึงทิศทางค่าเงินบาทในช่วงต่อไป ส่วนใหญ่มองว่า “ค่าเงินบาทในปี 64” มีทิศทางที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากปีนี้ โดยคาดว่าจะหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่พยายามประคับประคองมาตลอดปีนี้อย่างแน่นอน 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสั้นๆ หากเราไม่สามารถคุมการระบาดในประเทศของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ และกลายเป็นการระบาดรุนแรงในรอบ 2 “เงินร้อน”ที่แห่แหนมาพักระยะสั้นๆ ในไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจจะแห่ออกไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังนั้น ใครที่คิดจะเก็งกำไรค่าเงินบาทในช่วงจากนี้ หาข้อมูลให้ถ้้วนถี่ ถ้าไม่อยากกลายเป็นเหยื่อของวิถี “เงินร้อน”เก็งกำไร

ภาพโดย41330จากPixabay

#TheJournalistClub #เศรษฐกิจคิดง่ายๆ