วิจัยต่างประเทศระบุ การรับวัคซีนสายพันธุ์เก่าซ้ำๆ ทำให้การสร้างภูมิเชื้อใหม่ยากขึ้น

  • ช้ากว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนน้อยครั้งกว่า
  • ไม่จำกัดว่าจะเป็นวัคซีนรูปแบบใด

เมื่อวันที่ 29 มกราคม ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค-สวทช. โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับเรื่องการฉีดวัคซีนเชื้อเดิมซ้ำๆ โดยมีรายละเอียดว่า “งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์จากทีมวิจัยในเซี่ยงไฮ้ ที่เก็บข้อมูลจากตัวอย่างผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ BA.2 ที่มีประวัติการรับวัคซีนที่แตกต่างกัน คือ กลุ่มที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเลย กลุ่มที่ได้วัคซีนเชื้อตายมา 2 เข็ม และ กลุ่มที่ได้วัคซีนเชื้อตายมา 3 เข็ม

โดยผลจากการฉีดวัคซีนมาอย่างน้อย 2 เข็ม ต่อความรุนแรงจากการติดเชื้อออกมาชัดเจน คือ กลุ่มที่ไม่มีภูมิจากวัคซีนมีผู้อาการรุนแรงมากถึง 33% ขณะที่กลุ่มที่มีภูมิจากวัคซีนถึงแม้จะไม่มากแต่เพียงพอที่จะป้องกันอาการหนักได้ดีมาก เพราะไม่มีผู้มีอาการรุนแรงในตัวอย่างที่ทำการศึกษานี้ ผลการทดลองส่วนนี้สนับสนุนว่า โควิดโอมิครอนที่หลายคนมองว่าไม่รุนแรง น่าจะเป็นผลจากวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันตอนช่วงที่โอมิครอนจะระบาดในประชากรมนุษย์ แต่ไม่น่าจะเป็นเพราะตัวไวรัสเปลี่ยนแปลงตัวเองจนรุนแรงน้อยลง

ข้อมูลอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ ทีมวิจัยเปรียบเทียบภูมิคุ้มกันหลังติดเชื้อ BA.2 ของแต่ละกลุ่ม เพื่อดูว่าภูมิจากธรรมชาติจะสามารถถูกสร้างขึ้นมาแบบจำเพาะต่อโอมิครอนจะถูกกระตุ้นมาแตกต่างกันหรือไม่ ทีมวิจัยพบว่ากลุ่มที่สร้างแอนติบอดีต่อโอมิครอนขึ้นมาหลังหายป่วยน้อยที่สุด คือ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนมา 3 เข็ม ซึ่งขึ้นน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มค่อนข้างชัดเจน ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวจะพบได้แต่ภูมิต่อโอมิครอน เพราะภูมิต่อสายพันธุ์เก่าไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่ม

ทีมวิจัยเชื่อว่า การได้รับวัคซีนจากไวรัสสายพันธุ์เก่าซ้ำๆกันทำให้ร่างกายจดจำสิ่งเก่ามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้รับสิ่งใหม่จากไวรัสตามธรรมชาติร่างกายจะตอบสนองต่อสิ่งใหม่ได้น้อยและช้ากว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนน้อยครั้งกว่า (immune imprinting) ข้อมูลลักษณะนี้ตีพิมพ์ออกมาค่อนข้างเยอะ และ ไม่จำกัดว่าจะเป็นวัคซีนรูปแบบใด และ ดูเหมือนการให้วัคซีนตัวเดิมซ้ำๆแบบบ่อยเกินไปจะเป็นปัญหาต่อการสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อเชื้อใหม่ๆในธรรมชาติได้ยากขึ้นเรื่อยๆครับ