วิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีจริงหรือ!!!

อากาศที่ร้อนจัดขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่ผันผวนมากขึ้น พายุขนาดใหญ่ที่ก่อตัวเพิ่มขึ้น สภาพความหนาวเย็นที่เพิ่มมากขึ้นในขณะที่คลื่นความร้อน และความหนาวเย็น เกิดขึ้นผิดฤดูกาลบ่อยครั้งโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change crisis กำลังเป็น “ความกังวล”ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ของบรรดานักสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข รวมทั้งนักเศรษศาสตร์ทั่วโลก โดยมองว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างรวดเร็วในขณะนี้ จะกระทบต่อ “ความเป็นอยู่ อาหารการกิน และการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก” เร็วขึ้นกว่าและมากกว่าที่เคยคาดกันไว้

ที่สำคัญ แม้ดูเหมือนว่า ประชากร และรัฐบาลในหลายประเทศในโลกจะเริ่มตระหนักถึง “การสร้างความยั่งยืน และเศรษฐกิจสีเขียว” มากขึ้น แต่ก็ยังมีสัดส่วนครึ่งๆ ระหว่างการตระหนักอย่างแท้จริงและเริ่มคิดแก้ไข กับ การตระหนักแบบผิวๆ ตามแฟชั่น มากกว่าที่จะเร่งปรับเปลี่ยนจริงจัง 

นอกจากนั้น การออกนโยบายของผู้บริหารประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในขณะนี้ กลับถูกบิดเบือนจากการรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การลดโลกร้อน  เป็นการใช้นโยบายดังกล่าวเพื่อหาประโยชน์ในทางธุรกิจ และการกีดกันทางการค้า

ในระหว่างการจัดงานประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (The 26th UN Climate Change Conference of the Parties; COP 26) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศอังกฤษระหว่าง 31 ..ถึง 12  ..นี้ เรามาตั้งข้อสังเกตกันดูว่า ตัวเรา และโลกของเราตระหนักในเรื่อง “วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ” กันมากน้อยแค่ไหน และมองกันอย่างไรถึง “วิกฤตที่เกิดขึ้น 

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดเผยผลการสำรวจ Epson Climate Reality Barometer ซึ่งเป็นการสำรวจเกี่ยวกับประสบการณ์และการรับรู้ต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บริโภคในเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ จำนวน 15,264 คน ซึ่งจัดทำโดย “เอปสันสำนักงานใหญ่ ที่ประเทศญี่ปุ่น 

มีเป้าหมายในการยกระดับการรับรู้ของสาธารณชนต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันกระตุ้นภาคธุรกิจให้ตัดสินใจสร้างการเปลี่ยนแปลง และให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีคำถามคำตอบที่สะท้อนให้เห็นมุมมองที่น่าสนใจ

ตัวอย่างคำถาม เช่น ในช่วงชีวิตนี้ จะได้เห็นมนุษย์เอาชนะวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้หรือไม่ คำตอบนี้มีคนส่วนน้อยเพียง 27% เท่านั้นที่ให้ความเห็นว่า เราจะเอาชนะไม่ได้  ขณะที่คนส่วนใหญ่ 46% ตอบว่า เชื่อว่าเราเอาชนะธรรมชาติได้ โดยให้เหตุผล 3 ข้อหลักคือ ปัจจุบันผู้คนตื่นตัวต่อปัญหานี้เพิ่มขึ้นมากแล้ว คิดเป็น 33% เชื่อว่าความก้าว หน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาได้ 28% และข้อสุดท้ายคือ การใช้พลังงานหมุนเวียนจะเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ได้ 19%

และที่น่าสนใจมาก คือ ยังมีคนจำนวน 5% ของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เชื่อว่ามีภาวะวิกฤติทางสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นในโลก ซึ่งในกลุ่มนี้มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา 11% เยอรมนี 7% และอังกฤษ 6% 

คำตอบของข้อนี้ แสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญ “วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก” โดยส่วนหนึ่งไม่เชื่อ ขณะที่ส่วนหนึ่งเห็นว่า แก้ไขได้ และยังไม่มีความจำเป็นขั้นสุดในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง เพื่อรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และมนุษยชาติสามารถที่จะเอาชนะได้อย่างไม่ยากลำบากนัก

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจ พบว่า คน 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างมองเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศกับเหตุการณ์ต่างๆ เช่น อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น (77%) สภาพอากาศแบบสุดขั้ว (74%) และ ไฟป่า(73%) 

แต่เมื่อถามว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากกาศมีความเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆทางเศรษฐกิจและสังคมมากหรือน้อยอย่างไร คำตอบของกลุ่มตัวอย่างกลับไม่ได้ตระหนักถึงความเชื่อมโยง หรือการก่อให้เกิดปัญหามากนัก โดยมองว่าวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของภูมิอาการ ก่อให้เกิดความอดยาก (57%) การอพยพใหญ่ (55%) และการระบาดหนักของแมลง (51%)

ขณะที่ คำถามต่อกรณีความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่าเป็นของใคร  27% ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล อีก 18% มองว่าเป็นของภาคธุรกิจ และอีก 18% มองว่าเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล แต่มีจำนวนน้อยมากที่ชี้ว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย 

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของผลสำรวจดังกล่าว พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ยินดีที่จะปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อช่วยลดภาวะวิกฤตทางภูมิอากาศ ซึ่งแม้ว่าจะเป็น การสนับสนุนปลายทาง และเป็นลักษณะ “คิดมากกว่าทำ” แต่ก็ถือว่าเป็นทิศทางที่เหมาะสม

โดย 78% ที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนหรือมีแผนที่จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน  ถึงแม้ว่าจะมีเพียง 29% ที่ได้เริ่มเปลี่ยนไปใช้จริงแล้วก็ตาม  ขณะที่  82% ที่เห็นด้วยกับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน โดยพบว่า  45% ที่ใช้อยู่แล้ว  นอกจากนั้น กลุ่มตัวอย่าง 58% เห็นด้วยกับการกินอาหารที่เน้นพืช โดยมี 27% ที่เปลี่ยนมากินอาหารมังสวิรัติ   และ 63% มีความคิดจะเลิกใช้สินค้าที่ไม่มีส่วนสนับสนุนในด้านความยั่งยืน แต่มีเพียง 29% ที่ทำจริงเท่านั้น 

นายยาสึโนริ โอกาวะ ประธานบริษัท ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น ให้ความเห็นว่า  “การสำรวจเราค้นพบคือ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เห็น แต่คนส่วนใหญ่ยังขาดการรับรู้ความจริงเกี่ยวกับปัญหาซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากกับการแก้ปัญหาฉุกเฉินที่กำลังเกิดขึ้น และปัญหาในอนาคต” 

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ในโลก ยังไม่เคยคิดว่า “ในอนาคตเราจะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรง” จนกระทบกับการดำรงชีวิตของมนุษยชาติ เหมือนในหนังฮอลีวู้ดจำนวนมากที่หยิบเอาประเด็นนี้มาสร้างกันอย่างแพร่หลาย

แต่ก็อย่าลืมว่า ก่อนหน้าที่เราจะเกิดวิกฤตโควิด-19 คนส่วนใหญ่ในโลกก็ไม่เคยเชื่อว่า จะเกิดวิกฤตโรดระบาดที่รุนแรงและส่งผลกระทบกับคนทั่วโลกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้เช่นกัน

สำหรับประเทศไทย การที่เราเป็นประเทศในเขตมรสุม ทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศมองว่า “การเผชิญหน้ากับภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก” อย่างที่เกิดขึ้นเป็นประจำสลับกันทุกปี หรือบางปีมีทั้งแล้งแล้วทั้งท่วม เป็นปัญหาปกติประจำถิ่น ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็แก้ไขเฉพาะหน้าให้พ้นๆ จบๆ ไปเป็นครั้งๆ เป็นปีๆ ไป

ขณะที่การให้ความสนใจในเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะกระทบโดยตรงต่ออาชีพการเกษตร ซึ่งยังคงเป็น “อาชีพหลักของคนไทย” ยังอยู่ไกลตัวมากๆ เช่นเดียวกับประชากรโลกส่วนใหญ่

ทั้งๆ ที่ การจัดอันดับในเรื่องนี้ล่าสุด ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสียงเรื่องนี้สูง ติดอันดับทอปเทน ของดัชนีความเสี่ยง Global Climate Risk Index 2021 ของ German Watch ซึ่งได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศที่มีความผันผวนสุดขั้วด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการจัดอันดับกว่า 180 ประเทศทั่วโลก

ได้แต่หวังว่า ในโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเราเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก ในช่วงวิกฤตโควิดนี้ เพื่อเป็นหนึ่งในผู้นำในการประชุม COP-26 ที่เมืองกลาสโกว์สกอตแลนด์ ระหว่างวันที่ 31 ต.ค.- 3 พ.ย. 2564 

เมื่อกลับมาแล้วเราจะเห็นความใส่ใจและการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกรณีดังกล่าวนี้ในประเทศไทยอย่างเร่งด่วนมากขึ้นกว่าเดิม