วันนี้ (19 พ.ย.)​ เวทีผู้นำเอเปคจะมีการแถลงการณ์ร่วมปฏิญญาเอเปค 

  • “ เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว “
  • ผนึกความร่วมมือเอเปคกับ ฝรั่งเศส-ซาอุดีอารเบีย
  • ชวนร่วมกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติเงินเฟ้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า  ในระหว่างการประชุมเขตผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 รวม 21 เขตเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะผู้นำเอเปค เข้าร่วมการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับแขกพิเศษ ได้แก่ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างเอเปคกับหุ้นส่วนด้านการค้า” โดยกล่าวว่า ไทยตระหนักดีว่าความร่วมมือกับพันธมิตรนอกเอเปคเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการฟื้นฟูและการเติบโตในระดับที่กว้างขึ้น เพื่อการพัฒนาที่แข็งแกร่ง  สมดุล  ยืดหยุ่น  ยั่งยืนและครอบคลุม จึงเชิญชวนส่งเสริมการค้าการลงทุนเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเอเปคเป็นเวทีที่มุ่งขับเคลื่อนการค้าที่เสรีและเปิดกว้างมาโดยตลอด และในปีนี้ได้ริเริ่มทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอฟฟแทป (FTAAP) ผลักดันการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ขณะที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้กล่าวสนับสนุนการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน  ส่วนนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า ซาอุฯ และองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) มุ่งมั่นเสริมสร้างการเจริญเติบทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการสร้างเสถียรภาพในตลาดพลังงาน และความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด

หลังจากนั้น  พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นประธานการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับแขกพิเศษในช่วงอาหารกลางวัน ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติเงินเฟ้อ” โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงรายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ( IMF) ประจำปี 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจากนี้จนถึงปี 2566 จะชะลอตัว ระดับเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาในทิศทางและระดับที่ต่างกัน ตลอดจนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งกว้างขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า การสร้างการเติบโตหลังโควิด-19 ที่ครอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคม

นายกรัฐมนตรี  ยังได้กล่าวระหว่างการเข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) โดย กล่าวว่า เอเปคมีลักษณะเฉพาะที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อหาทางออกไปด้วยกัน  และเห็นด้วยกับรายงานของเอแบคที่ปฏิบัติได้จริงและสะท้อนข้อเรียกร้องภาคธุรกิจและเอเปคจะต้องดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป ขณะเดียวกัน ยินดีที่ผู้นำเอเปกและเอแบกมาอยู่พร้อมกันอีกครั้งหนึ่งหลัง 4 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้เจอกันเพราะสถานการณ์โควิด วันนี้ได้กลับมาเจอกันแล้วจะได้สานต่อความร่วมมือต่างๆ ที่บางอันอาจช้าไปไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงวันนี้ก็ต้องเร่ง  ซึ่งความสำเร็จของเอเปคในปีนี้ก็เป็นผลจากการรับฟังข้อเสนอแนะของเอแบคมาขับเคลื่อนที่เห็นได้ชัดคือวาระหลายปีเรื่องของเอฟแทป (FTAAP) ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่ต้องการให้มีความคืบหน้า   ขณะที่การประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ จะจัดทำ Bangkok  Goals  on BCG  Model  หรือเป้าหมายกรุงเทพ ว่าด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว

 นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ABAC กล่าวว่า ปัจจุบันความท้าทายต่างๆ เป็นภัยคุกคามที่ทุกเขตเศรษฐกิจต้องเผชิญร่วมกัน  รายงานประจำปีของ ABAC จึงเน้นย้ำการร่วมมือกันอย่างจริงจัง เน้นการป้องกันไม่ให้ติดอยู่ในกับดักเงินเฟ้อ วิกฤตอาหาร อำนวยความสะดวกทางการค้า ดำเนินการตามเศรษฐกิจ BCG รับมือกับโรคระบาด การเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม สนับสนุนความเชื่อมโยงและไร้รอยต่อ ภายใต้มาตรฐานและแนวปฏิบัติร่วมกัน รวมถึงการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค สนับสนุนธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ( MSMEs) โดยเฉพาะ รวมถึงการพัฒนาและนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาใช้