วัดผลสำเร็จ! มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจ ในส่วนของภาคเอกชนทำงานติดขัดหรือเลวร้ายจนทำงานไม่ได้ ประชาชนส่วนใหญ่ประสบปัญหาตกงาน หรือรายได้ลด หากจะให้เศรษฐกิจพอที่จะมีแรงไปต่อได้ ภาครัฐจะต้องทำหน้าที่สร้างแรงขับเคลื่อนหลักเพื่อเข้าไปทดแทน

ในช่วงวิกฤตโควิดครั้งนี้ก็เช่นกัน ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เราถูกตัดขาดจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติแทบจะเป็นศูนย์ ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้า เพิ่งเริ่มกลับมา และยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ธุรกิจและประชาชนในประเทศจำนวนมากขาดรายได้ 

ส่งผลให้ในช่วงกว่า 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งการให้เงินโดยตรงเพื่อเยียวยาความเดือดร้อน เฉพาะหน้าให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน หรือโครงการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และส่งผลให้เกิดเงินสะพัดไปยังธุรกิจ และร้านค้าขนาดเล็กอย่างเห็นหน้าเห็นหลัง อย่างโครงการคนละครึ่งเฟส 1 และเฟส 2  ซึ่งหากวัดประสิทธิผลกัน มาตรการกระตุ้น และเยียวยาเศรษฐกิจของรัฐในช่วงแรกนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างดี 

เพราะเป็นตัวหลักที่สามารถพยุงให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ที่ผ่านมา ให้ขยายตัวติดลบเพียง 6.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากที่เคยคาดการณ์กันไว้ว่าปีที่ผ่านมา เราจะติดลบอยู่ใกล้ๆ กับเลข 2 หลัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อการระบาดของโควิด-19 ในบ้านเราเข้าสู่ช่วงพีค จากการระบาดครั้งที่ 3 ต่อเนื่องด้วยการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจกลับมาเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการลดการพบปะของประชาชนอีกครั้ง และค่อยเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นๆ จนเข้าสู่การล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบในที่สุด

ในครั้งนี้ก็เช่นกัน เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ในรอบนี้รัฐบาลก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเช่นกัน ในวงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท แต่ครั้งนี้กลับไม่เป็นอย่างครั้งก่อนๆ เพราะจากการติดตามผลเศรษฐกิจของมาตรการรัฐในชุดนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) กลับพบว่า ประสิทธิภาพของมาตรการต่ำ ไม่ได้ผลดีเท่าช่วงแรก 

โดยพบว่า อัตราการใช้จ่ายของแต่ละมาตรการภาครัฐ หรือ การใช้จ่ายสะสมของโครงการ เทียบกับเป้ามูลค่าการใช้จ่ายของโครงการที่ตั้งไว้ ตั้งแต่วันที่เปิดโครงการจนถึงวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมายังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดหวังไว้มาก

โดยโครงการที่มีอัตราการใช้จ่ายต่อเป้าหมายต่ำที่สุด ได้แก่ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งมีวงเงินโครงการที่ตั้งไว้ประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่อัตราการใช้จ่ายอยู่ที่ระดับ 2.3% แสดงถึงความด้อยประสิทธิภาพของโครงการที่ยังไม่ตอบโจทย์สร้างแรงจูงใจให้คนออกมาใช้จ่ายได้มากเพียงพอ 

ขณะที่โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ วงเงินโครงการ 3,000 ล้านบาท มีอัตราการใช้จ่ายอยู่ที่ 18.2% เท่านั้น และแม้แต่มาตรการ 3 ตัวทอปของรัฐบาล อย่างโครงการคนละครึ่ง การให้เงินเพิ่มในบัตรคนจนและการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงกับกลุ่มแรงงานในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ก็ไม่เปรี้ยงปร้างเช่นเคย

โดยโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ซึ่งรัฐบาลตั้งวงเงินไว้ที่ 84,000 ล้านบาท จนถึงวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมามีอัตราการใช้จ่ายไปประมาณ 1 ใน 3 ของวงเงินทั้งมดที่ตั้งไว้ หรือประมาณ  35.4% 

ขณะที่การให้เงินพิเศษบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฟส 3 วงเงิน 16,400 ล้านบาท ก็เช่นกัน โดยมีอัตราการใช้จ่ายอยู่เพียง47.9% และสุดท้ายมาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในระยะเร่งด่วนวงเงิน 77,400 ล้านบาทเป็นโครงการเดียวที่ใช้จ่ายไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง หรืออัตราการใช้จ่ายอยู่ที่ 54.8% 

เหตุผลส่วนหนึ่งอาจจะมาจาก ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงการใช้สิทธิของโครงการ  รัฐบาลได้ประกาศเพิ่มความเข้มวดการเดินทางออกนอกบ้าน จำกัดกิจกรรม และกิจการที่สามารถเปิดได้ จำกัดเวลาการออกนอกบ้านอย่างเข้มวดตั้งแต่เวลา 21.00 น.จนถึง 05.00 น. ทำให้คนไม่สามารถออกไปจับจ่ายใช้สอยได้ตามเวลาที่กำหนด

ขณะที่เหตุผลอีกส่วนคือ ประชาชนมีเงินเหลือในการใช้จ่ายค่อนข้างจำกัดมากขึ้น  หรือประชาชนจำเป็นต้องนำเงินที่มีไปใช้ในกรณีอื่นๆ ก่อน เช่น การชำระหนี้สิน หรือการใช้จ่ายเพื่อรักษาพยบาล ฯลฯ นอกจากนั้น ยังมีผลในเรื่องการออกแบบมาตรการที่ไม่ตอบโจทย์ถูกที่ ถูกเวลา เช่น มาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยืนยันว่า เมื่อรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดในการคุมการแพร่ระบาดลงแล้วในขณะนี้ ยอดการใช้จ่ายผ่านโครงการรัฐต่างๆ กำลังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และจะเพิ่มขึ้นอีก ในระยะต่อไป

นอกจากนั้น ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ และต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้าก่อนที่เราจะฉีดวัคซันกันครบจำนวนที่จะเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบ นั้น กระทรวงการคลังยังได้เตรียมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อก 3 ก๊อก 4 ไว้ ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3  ทัวร์เที่ยวไทย ใช้ดีมีคืน และคนละครึ่ง เฟส 4 

โดยในส่วนของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3  ทัวร์เที่ยวไทยนั้น ตั้งวงเงินไว้แล้วรวมกันที่ 11,000 ล้านบาทและคาดว่าจะมีประสิทธิผลในการสร้างเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้  การกลับมาเปิดประเทศให้ท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งการกลับมาเปิดกิจการ ห้างสรรพสินค้า ร้านขายของ ร้านตัดผม ฯลฯ อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ยังจะเป็นตัวเร่งให้เงินที่ใส่ไว้ในมาตรการรัฐในโครงการอื่นๆ  ก่อนหน้าหมุนไปได้เร็วขึ้น และจำนวนรอบมากขึ้น ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

ดังนั้น วันนี้ทุกคนและทุกฝ่ายต้องออกมาใช้จ่ายช่วยชาติกันมากขึ้น และช่วยกันลุ้นให้ผลของมาตรการทั้งเก่า ทั้งใหม่ทั้งที่ออกมาแล้ว หรืออยู่บนหน้าตักพร้อมนำออกมาใช้ในอนาคต เหล่านี้ จะสามารถสร้างคลื่นลูกใหญ่ที่จะช่วยกระจายน้ำจำนวนมากให้เข้าสู่ฝั่ง และสร้างต่อเป็นแรงกระเพื่อมที่มากพอที่จะหมุนเงินต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไป หลังจากที่ประเทศไทยตัดสินใจจะเปิดประเทศอยู่ร่วมกับโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยใหม่วันละ 10,000 คน

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า ผลสำเร็จของมาตรการจะออกมาหอมหวานน่าทาน หรือจะออกมาแบบแป้กไม่เป็นท่า ต้องค่อยๆ ตามเก็บเย็บหน้าแตกกลับเข้าไปประกอบใหม่อีกครั้ง 

ไม่ว่าผลจะออกมาในรูปแบบไหน กระทรวงการคลัง และรัฐบาลคงจะถอย หรือถอดใจลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนลงในช่วงนี้ หรือระยะใกล้ๆ ไม่ได้ 

ตรงกันข้าม รัฐบาลจะต้องเร่งเดินหน้าต่อไปแบบเต็มสูบอย่างไม่หวั่นไหว เพราะวันนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าเศรษฐกิจไทยจะ “ฟื้น” หรือ “ไม่ฟื้น”ในอนาคต

ถ้ายังมีมาตรการการเงิน การคลังที่หลงเหลืออยู่ที่ไหน ก็ต้องงัดออกมาใช้แบบไปให้สุด โดยเพิ่มแรงจูงใจให้คนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ และหากเงินไม่พอ การขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ก็มีเตรียมอยู่ในกระเป๋าพร้อมกู้เงินเพิ่มได้ทันทีอยู่แล้ว

และที่สำคัญที่สุด หากผลออกมาไม่ได้ตามเป้า ต้องกล้าเปลี่ยนกล้าปรับปรุงเงื่อนไขการใช้สิทธิ วิเคราะห์ให้ชัดว่าทำไมอัตราการใช้จ่ายในโครงการรัฐรอบนี้ จึงไม่ได้ผลดีเท่าที่เคยเป็น จะปรับเปลี่ยนอย่างไร ได้หรือไม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิผล สามารถดันเม็ดเงินออกไปสะพัดมากขึ้นเพื่อช่วยให้ฟื้นฟูฯ เศรษฐกิจไทยผ่านช่วงสำคัญ และผ่านวิกฤตนี้ไปได้พร้อมกัน