วัดกำลังมาตรการเยียวยาฟื้นเศรษฐกิจ

หลังจากตั้งท่ามาพักใหญ่ ในที่สุด เมื่อวันอังคารที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติมาตรการเยียวยา และโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายชุดใหม่ออกมาเพื่อรองรับผลกระทบของการระบาดของโควิด -19 ในรอบที่ 3 

โดยมาตรการหลักๆ ยังเป็นการต่อยอดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเยียวยาในรูปแบบเดิม ภายใต้เงินงบงบประมาณจากเงินกู้ก้อนแรก 1 ล้านล้านบาท

ประกอบด้วย 4 โครงการ 1.โครงการคนละครึ่งเฟส 3 รวมวงเงิน 93,000 ล้านบาท  ขยายจำนวนประชาชนเข้าร่วมโครงการเป็นไม่เกิน 31 ล้านคน จากโครงการคลละครึ่งเฟส 2 ที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 15 ล้านคน โดยรัฐบาลจะช่วยสบทบเงินคนละ 3,000 บาท ในลักษณะร่วมจ่ายคนละครึ่งกับประชาชน วงเงินการใช้จ่ายไม่เกิน 150 บาทต่อวัน จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง

แบ่งรอบการจ่ายเงินเป็น  2 รอบ รอบแรก สบทบไม่เกิน 1500 บาทต่อคน เร่ิมต้น ในเดือนก.ค.-ก.ย.64 และรอบที่2 อีก 1,500 บาทต่อคน เร่ิมเดือนต.ค.ธ.ค.64 ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่า จะช่วยส่งเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ 186,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับสิทธิ์คนละครึ่งโครงการเดิม หากต้องการเข้าร่วมโครงการ ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ แต่ต้องยืนยันสิทธิ์เข้าร่วมโครงการได้ที่แอปเป๋าตัง ส่วนคนที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ต้องเข้าไปสมัครที่เว็บไซต์www.คนละครึ่ง.com เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.2564 ตั้งแต่เวลา 06.00 น​.-22.00 น.ของทุกวัน จนครบ31ล้านคน

2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  13.65 ล้านคน โดยจะเติมเงินให้ผู้ถือบัตรคนละ 200 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน รวมคนละ 1,200 บาท เร่ิมเดือน1 ก.ค.-31 ธ.ค.64  โดยคาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 16,380.19 ล้านบาท 

3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จำนวน 2.5 ล้านคน เช่น ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนทำให้ไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ เป็นต้น  โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 200 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นเวลา เวลา 6 เดือน รวม 1,200 บาท เร่ิมเดือน1 ก.ค.-31 ธ.ค.64  มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 3,000 ล้านบาท 

4. โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งโครงการใหม่ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อจำนวน 4 ล้านคน 

โดยรัฐให้วงเงินสนับสนุนในรูปของบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) หรือเงินคืนที่คิดจากยอดใช้จ่าย ในชีวิตประจำวันและซื้อสินค้า ได้แก่ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ค่าบริการนวด สปา ทำผมทำเล็บ ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ

โดยกำหนดวงเงินใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน โดยยอดเงินคืนคิดเปอร์เซนต์ตามยอดใช้จ่าย และยอดใช้จ่ายที่นำมาคำนวณสิทธิไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งเท่ากับว่าจะได้รับสิทธิ e-Voucher สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการคือตั้งแต 1 ก.ค.-31 ธ.ค. เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.2564 เวลา 06.00 น. – 22.00 น.

โดยการคำนวณเงินเป็นระบบขั้นบันได คือ ยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 1-40,000 บาทแรก ได้รับ e-Voucher 10% ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน และยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 40,001-60,000 บาท ได้รับ e-Voucher 15 % ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ซึ่งสิทธิ e-Voucher จะคืนเป็นวงเงินใน g-Wallet ทุกต้นเดือนถัดไป

สำหรับวงเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ รัฐจะใช้เงินกู้ประมาณ 28,000 ล้านบาท และคาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 268,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ที่เคยใช้จ่ายผ่านแอปเป๋าตังแล้ว  สามารถลงทะเบียนผ่านแอปเป๋าตังหรือเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com ส่วนคนที่ยังไม่เคยรับสิทธิ์มาตรการรัฐ ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เท่านั้น

โดยทั้ง 4 โครงการดังกล่าว กระทรวงการคลัง ระบุว่าครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศประมาณ 51 ล้านคน จะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนก.ค.-ธ.ค. 64 ราว 473,000 ล้านบาท โดยประชาชนแต่ละคนเข้าร่วมได้ 1 โครงการ

ทั้งนี้ หากพิจารณาลักษณะของโครงการเยียวยาประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ออกมา นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า “ทำได้เพียงประคองสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่อาจต้านทางการทรุดตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการทรุดตัวของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากการกลับมาลดการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความล่าช้าในการเปิดประเทศ”

อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ขยายตัวได้ดี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศใหญ่ๆ ที่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้ หลังจากฉีดวัคซีนในอัตราที่สามารถหยุดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ไม่ให้สูงขึ้นได้ จะมีส่วนช่วยให้ตัวเลขการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ไม่ถึงขั้นติดลบ 

ขณะเดียวกัน รัฐยังมีข้อจำกัดทาารคลังมากขึ้น โดยนักเศรษฐศาสตร์บางรายมองว่า ในช่วงนี้รัฐบาลอยู่ในช่วง “กระสุนหมด” โครงการใหม่ที่ตรงจุดกว่า อาจจะต้องรอการโหลด “กระสุน” หรือเม็ดเงินใหม่จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้าน

อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายมีความเป็นห่วงตรงกันว่า “หากรัฐบาลไม่สามารถที่จะเร่งคุมพื้นที่ และสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ให้ได้โดยเร็ว รวมทั้งเร่งสปีดการจัดหา และฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้  “กระสุน”ที่เตรียมไว้เพิ่มขึ้นก็อาจจะไม่เพียงพอ”

ทั้งนี้ หากประเมินง่ายๆ จากมูลค่าความเสียหายของเศรษฐกิจที่ภาคเอกชนประเมินไว้ก่อนหน้า ว่า ภายใต้การลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลงจากการระบาดของโควิดรอบที่ 3 เอกชนมองว่า เม็ดเงินจะหายไปเดือนละ 1-1.2 แสนล้านบาท ดังนั้น ภายใต้วิกฤตรอบ 3 ที่เกิดขึ้นประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา วันนี้มูลค่าเศรษฐกิจหายไปแล้ว 2-2.4 แสนล้านบาท 

และความเสียหายจะมากขึ้น นับตามเวลาการระบาดที่ยืดยาวออกไป โดยหากตีระยะเวลาคร่าวๆ ว่าแพร่ระบาดรอบนี้ จะกินเวลาประมาณ 6 เดือน เม็ดเงินที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจจะอยู่ที่ประมาณ 6-7.2 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1 เท่าครึ่งของเม็ดเงินเยียวยาที่กระทรวงการคลังใส่เข้ามาในรอบนี้

ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินเม็ดเงินความเสียหาย หากประเทศไทยไม่สามารถที่จะสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ได้เร็วพอ ไว้ที่ 4.3-8.9 แสนล้านบาทแล้วแต่ความเลวร้ายของสถานการณ์ โดยธปท.มีความเห็นว่า “การหยุดการระบาดของโรคและได้รับวัคซีนที่เพียงพอ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการฟื้นเศรษฐกิจไทย”

และจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการบริหารจัดการวัคซีนของประเทศ ทำให้ธปท.ได้เลื่อนเวลาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ลากยาวออกไป จากเดิมที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปีจากนี้ หรือประมาณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ที่จะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 หรือประมาณสิ้นปี 2562

ล่าสุด ผู้ว่าการธปท.มองว่า เราต้องใช้เวลาเผชิญกับความยากลำบากเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6 เดือน โดยเศรษฐกิจไทยขะฟื้นตัวได้เท่าก่อนโควิด-19 ในไตรมาสแรกของปี 2566 หรืออย่างเร็วที่สุด 1 ปีครึ่งจากวันนี้

ดังนั้น วัดกำลังกันแล้ว พิษสงโควิด-19 น่าจะรุนแรงกว่าที่ “ยาขนานล่าสุดของรัฐบาลที่ออกมาจะสู้ไหว” และคงต้องเร่งเตรียมยาโดสที่แรงขึ้นเผื่อไว้กรณีฉุกเฉิน ขณะเดียวกัน การปรับวิธีบริหารจัดการภาวะวิกฤตที่ต้องเป็นไปทิศทางเดียวกัน และการเร่งรัดกระจายวัคซีนให้เร็วที่สุด เป็นปัจจัยหลักที่ต้องให้ความสำคัญ 

หากไม่หยุดเลือดที่ไหล ยาดีขนาดไหนก็เยียวยาได้ไม่เพียงพอ!!

#Thejournalistclub #โควิด #คนละครึ่ง #เราชนะ #วัคซีนโควิด