วัคซีนป้องกันโควิด 19 “AstraZeneca-Pfizer-Moderna” ล้วนให้ประสิทธิผลใกล้เคียงกัน

  • กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • เปิดเผยข้อมูลวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด AstraZeneca, Pfizer หรือ Moderna
  • เข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 ต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ล้วนให้ประสิทธิผลที่ใกล้เคียงกัน

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทีมวิจัยจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ศ.นพ.ดร.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ร่วมกับสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 พบว่า การฉีดวัคซีน AstraZeneca, Pfizer หรือ Moderna เป็นเข็มกระตุ้นที่ 4 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสูตรไขว้ (heterologous booster vaccination) จะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์โอมิครอนได้สูงถึง ร้อยละ 73 ร้อยละ 71 และร้อยละ 71 ตามลำดับ ซึ่งระดับประสิทธิผลนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ได้รับวัคซีนเพียง 3 เข็ม

โดยผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 เข็มกระตุ้นที่ 4 ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิด mRNA หรือไวรัสเป็นตัวนำ มีประสิทธิผลไม่ต่างกันในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่ม 608

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ผู้ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มจะช่วยป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิตจากสายพันธุ์โอมิครอนได้สูงถึง ร้อยละ 96 ในกลุ่มอายุ 18-59 ปี และ ร้อยละ 97 ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ดังนั้น กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากที่สุด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต ทั้งนี้ ขอเชิญชวนให้ลูกหลานพาผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีกประมาณ 2 ล้านคน ตลอดจนผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้วนานกว่า 4 เดือน แต่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ให้รีบมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเร็ว เพราะว่า 2 กลุ่มนี้ยังพบผู้เสียชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ในทุกวันนี้