“ล้มละลายยามชรา เมื่ออายุยืนคือฝันร้าย”

  • หนังสือที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น เล่มหนึ่ง
  • สะท้อนสังคมญี่ปุ่น ที่ “อายุมั่นขวัญยืน” ไม่ใช่ความสุขอีกต่อไป ผู้สูงอายุหลายคนต้องทำงานจนแก่
  • ขณะที่อีกหลายคนต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ตายอย่างอ้างว้าง

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขามูลนิธิชัยพัฒนา เล่าให้ฟังเรื่องหนังสือขายดีที่สุดในญี่ปุ่นขณะนี้

วันจันทร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายนเป็น #วันเคารพผู้สูงอายุ และเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ของญี่ปุ่น กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ระบุว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นมีประชากรที่อายุเกิน 100 ปีมากกว่า 70,000 คน ทำสถิติใหม่เป็นปีที่ 49 ติดต่อกัน

การที่จำนวนผู้ที่อายุเกิน 100 ปีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นมีสาเหตุจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ และการดูแลสุขภาพที่ดีของชาวญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้ ไม่แน่ว่าบรรดา #ผู้สูงอายุ ในญี่ปุ่นจะมีความเป็นอยู่ที่ดี

ญี่ปุ่นเป็นสังคมชราภาพอย่างยิ่งยวด คือ มีประชากรอายุเกิน 60 ปีมากกว่า 1 ใน3 ของประชากรทั้งหมด แต่ #คนชรา เหล่านี้กำลังเผชิญกับคุณภาพชีวิตที่ถดถอยลงเรื่อย ๆ ถึงขนาดที่ระบบสวัสดิการของรัฐอาจล้มละลาย

เมื่อเดือนกรกฎาคม มีข่าวใหญ่เมื่อกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นประเมินว่า ครอบครัวสามีภรรยาหลังเกษียณอาจต้องใช้เงินมากกว่า 20 ล้านเยน สำหรับดำรงชีวิต

ตัวเลข 20 ล้านเยนหมายถึง “เงินเก็บ” เท่านั้น ไม่รวมรายได้จาก “เงินสำรองเลี้ยงชีพ” ทุกเดือนหลังจากหยุดทำงานประจำแล้ว โดยเมื่อแปลงเป็นเงินไทย คือประมาณ 6 ล้านบาท แต่เมื่อหักลบค่าครองชีพ และรายจ่ายสารพัดแล้ว เงินเก็บ 20 ล้านเยนไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนญี่ปุ่น

**** อยู่อย่างโดดเดี่ยว ตายอย่างอ้างว้าง ****

หลายคนอาจคิดว่า ญี่ปุ่นมีสวัสดิการที่ดีเยี่ยม แต่ความจริงแล้วระบบประกันสังคมของญี่ปุ่นมีแนวโน้มเสื่อมทรุด ถึงเสี่ยงจะล้มละลาย เพราะต้องนำเงินของคนวัยทำงานไปเลี้ยงดูคนชรา เมื่อคนเกิดน้อยลง คนวัยทำงานก็น้อยลง เงินที่จะนำไปอุ้มคนชราย่อมลดลงเป็นธรรมดา
ทางรอดของรัฐบาลคือ ยืดอายุที่จะรับเงินสำรองเลี้ยงชีพออกไป เก็บภาษีเพิ่มเติม หรือลดสวัสดิการลง

ผู้สูงอายุญี่ปุ่นในปัจจุบันมีชีวิตที่ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าสุขหรือทุกข์ หลายคนอยู่อย่างโดดเดี่ยวในชนบท เพราะลูกหลานไปทำงานในเมืองใหญ่ หลายคนใช้เงินบำนาญที่เก็บสะสมมาทั้งชีวิต เพื่ออาศัยในบ้านพักคนชราที่บริการเพียบพร้อม แต่มีค่าใช้จ่ายสูงหลายแสนเยนต่อเดือน

บางคนเลือกไปตั้งหลักปักฐานยามชราในต่างประเทศที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่คุ้นเคยกับชีวิตในญี่ปุ่นมากกว่า
บางคนยังต้อง “ทำงานยามชรา” โดยสถิติของรัฐบาลญี่ปุ่น พบว่า ผู้สูงอายุ 7 ล้าน 3 แสนคน ยังทำงานอยู่ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงเป็นประวัติการณ์ บางคนเจตนาทำผิดกฎหมายเพื่อไปใช้ชีวิตในคุก….สุดท้ายหลายคนตายอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีใครรู้

**** จุดจบความกตัญญู ? ****

ความลำบากของผู้สูงอายุญี่ปุ่นจะยิ่งสาหัสมากขึ้นในอนาคต เพราะชาวญี่ปุ่นทุกวันนี้แต่งงานน้อยลงและไม่มีลูกหลาน จึงทำให้ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวยามแต่เฒ่า ขณะที่ครอบครัวที่มีลูกเพียงคนเดียวก็แทบจะรับภาระดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่ไหว ถึงแม้ในใจจะยึดถือความกตัญญูก็ตาม

มีการประเมินว่า ปี 2040 จำนวนผู้สูงอายุในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุด เนื่องจากคนวัยทำงานในทุกวันนี้จะกลายเป็นคนแก่ ขณะที่เด็กที่เกิดใหม่มีน้อยมาก สภาวการณ์เช่นนี้จะทำให้ 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุวัย 65 ปีในญี่ปุ่นจะต้องอยู่ตัวคนเดียวโดยไม่มีลูกหลานหรือครอบครัวคอยดูแล บ้านที่มีผู้อาศัยเพียงคนเดียวก็จะเพิ่มขึ้นมากถึง 40% และจะกลายเป็นบ้านร้างในที่สุด

หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นทุกวันนี้บอกว่า ผู้สูงอายุรุ่นพ่อแม่นี้ยังพอจะพึ่งพาตัวเองได้ หากแต่ในรุ่นของพวกเขานั้น ระบบการจ้างงานได้เปลี่ยนไป ไม่มีการจ้างงานตลอดชีวิต ไม่มีโบนัสหรือเงินเกษียณก้อนโต แม้แต่งานประจำที่ดีๆก็แทบจะหาไม่ได้ อนาคตวัยไม้ใกล้ฝั่งของพวกเขาจึงยากลำบากยิ่งกว่ารุ่นพ่อแม่ทุกวันนี้อย่างมาก

“อายุมั่นขวัญยืน” เป็นคำอวยพรติดปาก หากแต่ทุกวันนี้ผู้เฒ่าผู้แก่มากมายที่เคยเป็น “ร่มโพธิ์ร่มไทร” ให้ลูกหลาน กลับต้องเป็น “ไม้ใกล้ฝั่ง” ที่รอวันถึงฝั่งอย่างอ้างว้าง.