ล่มบ่อยไหม!!แอพฯแบงก์ไทยปี 63

วันจันทร์ที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นอีกวันที่โลกโซเชียลวุ่นวาย ว้าวุ่น เนื่องจาก แอพพลิเคชั่นธนาคารออนไลน์ของหลายธนาคารพาณิชย์ “ล่ม” พร้อมกัน 

บางคนเข้าแอพฯ ไม่ได้ บางคนเข้าได้แต่โอนเงินจ่ายเงินไม่ได้ ขณะที่บางคนเข้าแอพฯ ได้ โอนเงินได้ แต่คนที่โอนเงินไปให้ไม่ได้รับเงิน ทำเอาสับสน ไม่สบายใจเพราะกลัวว่า เงินที่โอนไปจะหาย จะสูญ

โดยวันนั้น 2 ธนาคารพาณิชย์ที่มีการประกาศชัดเจนว่า แอพพลิเคชั่นธนาคารออนไลน์ของธนาคารขัดข้อง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งได้แจ้งต่อลูกค้าว่า  “เนื่องจากวันนี้ (30 พ.ย. 63) มีผู้ใช้งานระบบ SCB EASY App ของธนาคารเป็นจํานวนมาก ส่งผลให้ระบบมีปัญหาการใช้งานในบางช่วงเวลา และทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งไม่ได้รับความสะดวก หรือต้องใช้ระยะเวลานานในการเข้าระบบ 

อย่างไรก็ตามท่านสามารถใช้งานผ่านช่องทางอื่นๆ ของธนาคารได้เป็นอีกทางเลือกในการใช้บริการ ธนาคารขออภัยเป็นอย่างสูงในความไม่สะดวกครั้งนี้ และกำลังเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ระบบกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

เช่นเดียวกับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา แจ้งว่า ขณะนี้ระบบกรุงศรีโมบายแอปพลิเคชัน (KMA) ขัดข้องชั่วคราว และธนาคารกำลังเร่งดำเนินการแก้ไข โดยสามารถเลือกทำรายการผ่าน Krungsri Online และ ATM ได้ตามปกติ       

ขณะที่  K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย  และ Bualuang M Banking ของธนาคารกรุงเทพ ยืนยันว่า ไม่ได้ระบบมีปัญหาขัดข้อง แต่มีปัญหาความล่าช้าของการให้บริการ ทำให้ต้องรอการเชื่อมต่อนานกว่าปกติ

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแล นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ระบุว่า ได้รับรายงานว่า ระบบ mobile banking ของบางธนาคารมีการหน่วงหรือช้า ขณะที่บางธนาคารมีการตอบกลับช้าหรือเข้าใช้งานไม่ได้เป็นช่วงๆ ส่วนใหญ่เป็นรายการประเภทชำระบิลเรียกเก็บเงิน (Bill payment)และบางธนาคารมีรายการรอทยอยเข้าบัญชีในช่วงธุรกรรมสูง (Peak time)  โดย ธปท. และธนาคารสมาชิกได้ร่วมกันติดตามการให้บริการและการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด

อย่่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูสถิติ “ขัดข้อง” ของแอพพลิเคชั่นแบงก์ออนไลน์ในช่วงปีนี้ว่าเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน ช่วงที่ผ่านมานั้น ระบบธนาคารออนไลน์เกิดปัญหาขัดข้องหลายสิบครั้ง

จากข้อมูลของธปท. 9 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า ในส่วนของ Mobile Banking เกิดปัญหาขัดข้องรวมกันทั้งสิ้น 37 ครั้ง โดยไตรมาสที่ 1 ขัดข้องรวมกันทั้งสิ้น 12 ครั้ง จากแอพลิเคชั่นของ 5 ธนาคารพาณิชยฺ ไตรมาสที่ 2 ขัดข้องรวมกัน 13 ครั้งจากแอพพลิเคชั่นของ 6 ธนาคารพาณิชย์ และไตรมาสที่ 3 ขัดข้องรวมกัน 12 ครั้งจากแอพพลิเคชั่นของ 6 ธนาคารพาณิชย์

ขณะที่ ระบบ Internet Banking ขัดข้องรวมกัน 15 ครั้งใน 9 เดือน ไตรมาสแรกขัดข้อง 7 ครั้งจาก 3 ธนาคารพาณิชย์ ไตรมาสที่ 2 ขัดข้อง 3 ครั้งจาก 3 ธนาคาร และไตรมาสที่ 3 ขัดข้องรวมกัน 5 ครั้งจาก 2 ธนาคาร

ส่วนการขัดข้องของตู้เอทีเอ็ม หรือตู้ฝากเงิน ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ พบการขัดข้องทั้งสิ้น 29 ครั้ง โดยไตรมาสแรก ขัดข้องมากสุด 13 ครั้ง โดยเป็นการขัดข้องของ 6 ธนาคาร ไตรมาสที่ 2 ขัดข้องทั้งสิ้น 7 ครั้งจาก 5 ธนาคาร ส่วนไตรมาสที่ 3 มียอดขัดข้อง 9 ครั้งจาก 5 ธนาคาร

สำหรับสาเหตุของ “การล่ม” ของระบบนั้น จากการสอบถามผู้รู้ในแวดวงการเงิน มีด้วยกัน 3 สาเหตุหลักๆ สาเหตุที่ 1 คือ จำนวนธุรกรรม หรือยอดการใช้บริการที่เข้ามาพร้อมกันจำนวนมาก ซึ่งกรณีนี้จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงสิ้นเดือน ซึ่งจะมีธุรกรรมการโอนเงิน และชำระบิลสูงมาก นอกจากนั้น จะล่มอีกรอบ ในช่วงที่มีการจัดโปรโมชั่น ในแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ระดับโลก ซึ่งหลังๆ นี้ มีการจัดโปรโมชั่นแทบทุกเดือน

คิดง่ายๆ เหมือนถนนมิตรภาพ ถนนพหลโยธิน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือช่วงปีใหม่ ที่คนแห่กันไปท่องเที่ยว แห่กลับบ้าน ทำให้ถนนที่ไปภาคเหนือ ภาคอีสาน ติดหนีบเพราะมีรถมากกว่าถนนให้วิ่ง

สาเหตุที่ 2 ระบบมัก “ล่ม” ในเวลาที่ธนาคารพาณิชย์อัพเดท หรือปรับเปลี่ยนระบบหลังบ้านของแอพพลิเคชั่นเอง และที่ผ่านมเกิดขึ้นหลายครั้งกับหลายธนาคาร

ส่วนสาเหตุที่ 3 คือ ความผิดพลาดของ “คน” หรือ human error รวมทั้งบางกรณีพบมีความพยายามที่จะป่วนระบบของ “แฮกเกอร์” ร่วมด้วย

สำหรับการแก้ไขปัญหา “ล่มซ้ำซาก” ที่เกิดขึ้นนั้น จากการสอบถามทั้งธนาคารพาณิชย์ และธปท.พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีความพยายามแก้ปัญหาข้อที่ 1 ด้วยการขยายถนน หรือเพิ่มช่องทางการทำธุรกรรมมาโดยตลอด 

แต่ต้องยอมรับว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  และการใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านแอพฯธนาคารมือถือ ได้ทำให้การทำธุกรรมการเงินออนไลน์เติบโตสูงขึ้นมาก และย่นเวลาการเข้าถึงแอพพลิเคชั่นธนาคารมือถือให้เร็วกว่าที่คาดไว้มาก 

โดยบางช่วงเวลายอดการใช้บริการก้าวกระโดดขึ้น 200-300% ทำให้การเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานหรือถนนต้องเร่งความเร็วให้มากขึ้นกว่าที่วางแผนไว้ จึงจะรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ได้

นอกจากนั้น การปรับปรุงความสามารถของระบบ การพัฒนาแผนการรับมือระบบ “ล่ม” รวมทั้ง การต่อสู้กับบรรดา “แฮกเกอร์” เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์ และธปท.เร่งดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา

และคำถามสุดท้ายที่หลายคนคงอยากรู้ว่า  ต่อจากนี้ ถ้าจะดูแลให้แอพพลิเคชั่นธนาคารมือถือไม่ล่มอีก เป็นไปได้หรือไม่ คำตอบจาก ธปท.ยอมรับว่า “คงยากที่จะเป็นไปได้” 

“แต่จะพยายามร่วมกันกับธนาคารพาณิชย์ให้ “ล่มน้อยๆ” ไม่บ่อย และ “ล่มสั้นๆ “ แก้ได้เร็วไม่ยาวนาน รวมทั้งที่สำคัญคือ มีระบบอื่น หรือช่องทางในการให้บริการอื่นทดแทนได้ในเวลาที่ีะบบล่ม รวมทั้ง มีเจ้าหน้าที่พร้อมให้สอบถาม หรือสามาถยืนยันยอดเงินได้ว่า ไม่หายไป แม้มีการโอนเงินในช่วงที่ระบบล่ม”

และการล่ม หรือไม่ล่มของธนาคารออนไลน์ จะถือเป็นหนึ่งใน KPI ที่ ธปท.จะใช้วัดประสิทธิภาพ หรือจัดชั้นคุณภาพของธนาคารพาณิชย์

#เศรษฐกิจคิดง่ายๆThejournalistclub