ล็อกดาวน์ 2 เดือนทำเศรษฐกิจเสียหาย 5-7 แสนล้านบาท

.จี้รัฐเร่งคุมโควิดให้ได้ภายในเดือนก.ย.-ต.ค.นี้

.แนะกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจ

.ถ้าคุมไม่อยู่-ไม่เพิ่มอัดฉีดปีนี้จีดีพีไทยติดลบ 4-2%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยทั้งประเทศเปราะบาง และทานทนต่อผลกระทบจากโควิดน้อยลง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวลงมาก นอกจากนี้ ในเดือนส.ค.ยังมีการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นเป็น 29 จังหวัด ซึ่งเศรษฐกิจของ 29 จังหวัดมีสัดส่วนสูงถึง 80% ในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพราะโรงงานผลิตเพื่อส่งออกส่วนใหญ่อยู่ใน 29 จังหวัด แม้ขณะนี้ภาคการส่งออกดีขึ้น และเป็นเครื่องจักรเดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กลับมีหลายแห่งหยุดการผลิต เพราะพนักงานติดเชื้อ  

ดังนั้น ในเดือนส.ค.จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องยับยั้งโควิดให้ได้ โดยเฉพาะรจัดสรรวัคซีนมาฉีดให้พนักงานในโรงงาน ถ้าคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง คนจะเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ดังนั้น ภาครัฐควรเพิ่มเงินมาตรการคนละครึ่ง เพื่อให้คนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น และฟื้นช้อปดีมีคืน หลังจากนั้น หรือไตรมาส 4 ต้องเริ่มการจ้างงานผ่านโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับการล็อกดาวน์ 13 จังหวัดคาดเศรษฐกิจเสียหายเดือนละ 200,000-300,000 ล้านบาท แต่เดือนส.ค.เพิ่มเป็น 29 จังหวัด เศรษฐกิจเสียหายเพิ่มเป็น 300,000-400,000 ล้านบาท รวม 2 เดือนเสียหาย 500,000-700,000 ล้านบาท ทำให้จีดีพีติดลบ 3% แต่ถ้ารัฐบาลคุมโควิดได้ในเดือนก.ย.หรือเดือนต.ค.เป็นต้นไป จากนั้นก็เข้าสู่การฟื้นฟู ซึ่งเงินกู้ 500,000 ล้านบาทไม่พอแน่นอน จำเป็นต้องกู้เพิ่มอีก 500,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย เพื่อใช้เงิน 1 ล้านล้านบาทมากระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องเตรียมขยายเพดานเงินกู้อีก 5-10% ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 60% และใกล้เต็มเพดานแล้ว

“จากสถานการณ์ต่างๆ ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจปีนี้ อาจติดลบ 2-0% จากเดิมที่คาดโตได้ไม่ต่ำกว่า 1% แต่ถ้าเดือนก.ย.โควิดคลายตัว และรัฐอัดฉีดเงินเข้าไป ทั้งปีก็อาจFตได้ 1% แต่ถ้าโควิดเอาไม่อยู่ และล็อกดาวน์ต่ออีก 1 เดือนหลังจากเดือนส.ค.64 ทั้งปีก็อาจติดลบ 2-4% ตอนนี้ ยังไม่ชัดว่า รัฐบาลจะคุมได้หรือไม่ และจะอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน”