ลูกหนี้มือใหม่..ต้องรู้อะไรในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี 9 เดือ   เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีมติให้รับขึ้น 0.25%  ต่อปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับขึ้นไปอยู่ที่ 0.75 % ต่อปี แม้ว่าจะเป็นไปตามคาดหมาย ไม่ได้ปรับขึ้นแรงกว่าที่คาด แต่ก็ทำให้บรรดา “ลูกหนี้” ทั้งหลายตระหนักถึงภาระการชำระคืนหนี้ รวมทั้งผ่อนส่งรายเดือนที่จะสูงขึ้นต่อไปในอนาคต

และแม้ว่าจะยังไม่มีธนาคารพาณิชย์แห่งใดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง หรืออัตราดอกเบี้ย M-Rate เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี MLR ดอกเบี้ยเงินกูู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี MRR และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชี MOR อย่างเป็นทางการ 

แต่นายธนาคารก็ระบุชัดเจนว่า หากมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องไปเพื่อลดแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ในที่สุดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์จะต้องปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้น  เท่ากับ“ยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำ” ที่ดำเนินมาระยะหนึ่งเพื่อดูแลระบบการเงินไทยในช่วงโควิด-19 ได้จบลงแล้ว 

เปลี่ยนสู่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ที่คาดกันว่า จะอยู่กับเราไปอีกประมาณ 1-2 ปีจากนี้ โดยคาดกันว่า กนง.จะมีการทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และต่อเนื่องไปตลาดทั้งปีหน้า จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายขณะนี้ที่อยู่ 0.75% ไปจบรอบนี้ที่ประมาณ 2.25-2.75%  หรือปรับขึ้นประมาณ 1.5-2% จากวันนี้ที่ขึ้นมาแล้ว0.25% 

คำถามต่อไปคือ เมื่อดอกเบี้ยนโยบายขึ้นประมาณ 2% (คิดตัวเลขกลมๆ) ดอกเบี้ยเงินกู้แบงก์จะเพิ่มเท่าไร หากคิดจากสถิติการส่งผ่านต้นทุนการเงินที่ธนาคารพาณิชย์เคยปรับขึ้นตาม เวลาที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นในช่วงก่อนๆ พบว่า หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 100% ดอกเบี้ยจริงจะขึ้นประมาณ 60% 

ซึ่งกรณีนี้ ดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะขึ้น 2% ตัวเลขกลมๆ ของดอกเบี้ย M-Rate จะขึ้นประมาณ 1.25% จากปัจจุบัน โดยทยอยขึ้นแตกต่างกัน ทั้งขนาดของการขึ้นและเวลาของการปรับขึ้น ในแต่ละประเภทสินเชื่อ

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงในปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา(Minimum Loan Rate) หรือ MLR  อยู่ที่ 5.47% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี(Minimum Overdraft Rate) หรือ MOR 5.84%ต่อปี  ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) หรือ MRR 5.97% ต่อปี (อ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารกสิกรไทย) 

ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย บ้าน ทาวเฮาส์ คอนโดมิเนียม อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ตั้งแต่ 2% ไปจนถึง8% แล้วแต่กรณีทั้งกรณีบ้านใหม่ และรีไฟแนนซ์

และหากถามต่อว่า เมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงในที่สุด ลูกหนี้กลุ่มไหนจะถูกกระทบทันทีบ้าง พบว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทันทีจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกคือ ลูกหนี้เก่า ซึ่งกู้แบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งสินเชื่อธุรกิจส่วนใหญ่ ประมาณ 60% กู้โดยใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ส่วนนี้ดอกเบี้ยขึ้นทันทีเมื่อดอกเบี้ยอ้างอิงขึ้น 

นอกจากนั้น ยังมีลูกหนี้เก่าสินเชื่อบ้าน ที่กู้โดยดอกเบี้ยลอยตัวเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะน้อยกว่า เพราะสินเชื่อบ้านมีการกำหนดค่างวดคงที่  และที่ผ่านมาส่วนใหญ่ สถาบันการเงินได้คำนวณเผื่อการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยอ้างอิงไว้แล้วที่ 0.75-1.00 ต่อปี 

ดังนั้น หากดอกเบี้ยหลักไม่ได้ปรับขึ้นเกินกว่าที่เผื่อไว้ ผู้กู้ก็ยังมีภาระผ่อนต่อเดือนเท่าเดิม แค่ต้องผ่อนยาวขึ้นเพราะค่างวดจะถูกแบ่งไปจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ตัดต้นน้อยลง แต่หากดอกเบี้ยอ้างอิงเพิ่มสูงกว่า 1% จะได้รับผลกระทบ

ส่วนลูกหนี้อีกกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทันที จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คือ “ลูกหนี้ใหม่” ซึ่งเมื่อดอกเบี้ยอ้างอิงปรับขึ้น ดอกเบี้ยที่ได้รับอนุมัติให้กู้ก็จะปรับขึ้นตามด้วย เช่น หากอัตราดอกเบี้ย MLR ปรับขึ้นไป 0.25% ดอกเบี้ยบ้านเฉลี่ย 3 ปีแรกเดิมเคยอยู่ที่ 4% อัตราใหม่ก็จะปรับเป็น 4.25% โดยอัตโนมัติ

ดังนั้น “ลูกหนี้มือใหม่” ที่กำลังจะกู้เงินในยุคอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะต้องพิจารณาด้วยว่า มีความจำเป็นในการก่อหนี้มากแค่ไหน และต้องการกู้สินเชื่อประเภทไหน 

เช่น กู้สินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ เช่น สินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่สินเชื่อประเภทนี้จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากอยู่แล้ว เช่นบัตรเครดิตที่ 18% และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 24-28% 

หรือ กู้สินเชื่อประเภทลอยตัวที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย M-Rate เช่น สินเชื่อบ้าน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ในช่วงแรก จากนั้นจะเข้าสู่อัตราดอกเบี้ยลอยตัว

 และที่สำคัญที่สุด คือ ให้คำนวณรายได้ลบรายจ่ายของตัวเอง ว่ามีเงินเหลือสำรองไว้ ประมาณ 10% ของยอดผ่อนรายเดือน เผื่อเงินค่างวดที่ต้องผ่อนหนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ 

เพราะจากการคำนวนผลกระทบ แบงก์พาณิชย์ ระบุว่า หากอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่เราผ่อนชำระเพิ่มขึ้น  1%  จะแปลงเป็นจำนวนเงินที่ต้องผ่อนรายงวดเพิ่มขึ้นประมาณ 9-11%

เช่น หากเคยผ่อนหนี้งวดละ 12,000 บาทต่อเดือน หากดอกเบี้ยขึ้น 1% ค่าผ่อนจะขึ้นเป็น 13,200 บาทต่อเดือนบวกลบและอาจจะต้องยืดเวลาส่งออกไปอีกเล็กน้อย

และหากลูกหนี้มือใหม่คนไหน อยากจะล็อกเรตวันนี้ ตัดสินใจว่าจะกู้ก่อนดอกเบี้ยอ้างอิงปรับขึ้นอย่างเป็นทางการ ในทางปฏิบัตินั้น อาจจะตกใจ หรือประหลาดใจ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ได้ จะไม่ได้เท่ากับดอกเบี้ยที่ลูกหนี้เก่ากู้อยู่ แต่จะสูงขึ้นเล็กน้อยจากในปัจจุบัน แม้อัตราดอกเบี้ย M-Rate ยังไม่ขึ้น 

เนื่องจากธนาคารพาณิชย์บวกค่าความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หรือปรับลดอัตราลดจากดอกเบี้ย M-Rate ลง เช่น หากเดิมสินเชื่อได้รับอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ MLR-3.25% หากเป็นลูกหนี้ใหม่อาจจะได้ที่ MLR-3% เท่านั้น

และในข้อเท็จจริงของการกู้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีจำนวนมาก ดังนั้น ผู้กู้ควรจะสอบถามพนักงาน และศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อนที่จะขอสินเชื่อ และรับอนุมัติเงินกู้ ท้ายที่สุดในฐานะลูกหนี้คนหนึ่ง ขอส่งกำลังใจให้คนไทยทุกคนที่เป็นหนี้เช่นเดียวกัน