ลุ้น!!หุ้นไทยจะทะยานกลับไปแตะระดับ 1,600 จุด ได้หรือไม่ ขณะที่เงินบาทจะยังคงแข็งค่า คาดเคลื่อนไหว 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,592.52 จุด ลดลง 0.05% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 57,344.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.12% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 0.87% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 323.37 จุด  

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงขายในช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศ หลัง สศค.ปรับลดตัวเลขจีดีพีของไทยในปีนี้ลง อย่างไรก็ดี ดัชนีฯดีดตัวขึ้นช่วงกลางสัปดาห์ ตามแรงซื้อคืนหุ้นกลุ่มธนาคารหลังจากที่ถูกเทขายไปก่อนหน้านี้ ก่อนจะร่วงลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการทำข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน

สำหรับสัปดาห์ที่ (4-8 พ.ย.62) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,585 และ 1,570 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,610 และ 1,620 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3/62 การประชุมนโยบายการเงินของกนง. (6 พ.ย.62) ประเด็นการทำข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน สถานการณ์ BREXIT รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ใกล้แนว 30.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 ปีที่ทำไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับแรงขายเงินเยนซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย หลังมีรายงานข่าวระบุว่า สหรัฐฯ และจีนใกล้ที่จะบรรลุดีลการค้าเบื้องต้นระหว่างกัน

อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงต่อมา ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขายต่อเนื่องหลังการประชุมเฟด ซึ่งมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ตามที่ตลาดคาด ลงมาที่กรอบ 1.50-1.75% นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยลบจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ในวันศุกร์ (1 พ.ย.62) เงินบาทอยู่ที่ 30.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 ต.ค.62)

สำหรับสัปดาห์ที่ (4-8 พ.ย.62) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของกนง. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่ตลาดรอติดตาม ประกอบด้วย สถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน สัญญาณทิศทางดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด และความคืบหน้าของเรื่อง BREXIT