ลมพัดหวนละอองฝุ่นPM 2.5 มาเยือน

  • “ทุกข์ที่เกิดซ้ำ” กับแนวทางแก้ปัญหาแบบเดิมๆ

สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ช่วงต้นฤดูหนาว สร้างความรื่นรมย์เหมือนสาวสวยมาเยือนถึงหน้าบ้าน แต่สาวเจ้ากลับพกเข็มนับหมื่นพันเล่มมาทิ่มแทง เข้าข่าย “สวยซ่อนคม”เกริ่นนำต้นเรื่องมาเพื่อจะให้เห็นภาพเข้าสู่เรื่องฝุ่นPM2.5 ที่กำลังสร้างความปั่นป่วนไปทั่ว

ความรุนแรงยกระดับขึ้นทุกขณะ ถึงขั้นที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาเตือนประชาชนให้สวมหน้ากากอนามัย ในยามที่ต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน พร้อมกับเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมด่วนเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินเกณฑ์มาตรฐานในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

ในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม ออกมาตรการลดการใช้รถที่ใช้น้ำมันดีเซล ภาพที่เราจะได้เห็นในลำดับต่อไปก็คือ ตำรวจจราจรร่วมกับกรมการขนส่งทางบกตั้งด่าน ตรวจควันดำผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แล้วที่ผ่านมาทำไมไม่เข้มงวด ขณะที่หน้ากากอนามัยจะขายดิบขายดี จนอาจถึงขั้นขาดตลาดอีกก็เป็นได้ 

ปัญหาไม่ได้จบแค่นั้น อย่าลืมว่าสภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป ผันผวนรุนแรงมากขึ้น แต่วิธีคิดรับมือกับปัญหายังย่ำอยู่กับที่ ประสบการฝุ่นPM 2.5 รอบที่ผ่านมาก็สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว วิธีการรับมือช่วงนั้นคือการไปฉีดน้ำกลางสี่แยก ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรได้มากนัก แต่ก็พอจะให้อภัยกันได้สำหรับ “มือใหม่หัดขับ”

แต่รอบนี้มีประสบการณ์ให้ได้เรียนรู้กันแล้ว แต่กลับไม่มีมาตรการอะไรที่พอจะหวังพึ่งพาได้ ทุกอย่างยังคงเป็นรูปแบบ “ขายผ้าเอาหน้ารอด”เช่นเดิม

เมืองใหญ่ในต่างประเทศที่เคยมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างรุนแรง เช่น กรุงปักกิ่ง รัฐบาลจีนเอาจริงเอาจังเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะปัญหานี้เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ จะนิ่งเฉยปล่อยวางคงไม่ได้ เมื่อเอาจริงเอาจังแก้ปัญหาแบบต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่มาตรการ “ไฟไหม้ฟาง” อย่างประเทศไทย สุดท้ายก็ลดฝุ่นมลพิษลงไปได้แบบเห็นผล

ขณะที่ประเทศไทย หมดฝนปุ๊บ ฝุ่นPM 2.5 เกินค่ามาตรฐานทันที เมื่อเสียงความเดือดร้อนของประชาชนดังขึ้นเรื่อยๆ มาตรการจึงค่อยถูกหยิบยกขึ้นมาใช้แบบเฉพาะหน้า  ไม่มีความยั่งยืนหรือจะฝากความหวังไว้ในอนาคตได้เลยแม้แต่น้อย

มาตรฐานการแก้ปัญหาแบบไทยๆ ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ยังถูกนำมาใช้กับฝุ่นพิษ PM 2.5 กว่าจะลงมือจริงจังก็อาจจะสายไปเสียแล้ว 

การเรียกประชุมแบบชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไข บรรเทาเยียวยาได้อย่างถาวร ผู้คนยังต้องเผชิญความเสี่ยง มีอันตรายต่อสุขภาพ ทุกครั้งที่อากาศเปลี่ยนแปลง แผนรับมืออย่างยั่งยืนไม่เคยมีให้เห็น

สิ่งที่ควรจะได้เห็นคือแผนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การสร้างปอดให้เมือง เร่งรณรงค์ปลูกต้นไม้ที่ช่วยฟอกอากาศ หรือช่วยกรองฝุ่น  การสร้างเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ การควบคุมการก่อสร้างไม่ให้เกิดฝุ่นแพร่กระจายอย่างจริงจัง การควบคุมปริมาณการใช้รถอย่างเห็นผล

ที่สำคัญคือจะต้องมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่ออนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน  ที่สำคัญคือ หากประเทศไทยติดอันดับต้นๆของโลกเรื่องมลพิษฝุ่น PM 2.5   นักท่องเที่ยวคงไม่เสี่ยงย่างกรายมา ยิ่งเศรษฐกิจแย่ การท่องเที่ยวยิ่งมีความสำคัญที่จะช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจของประเทศ  ดังนั้นเรื่องนี้กระทบต่อประเทศมากกว่าที่จะมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบขอไปที

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องมานั่งสะสาง สังคายนากันอย่างเอาจริงเอาจัง ว่าจะกำหนดรูปแบบการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เพราะปอดและเรื่องสุขภาพของประชาชนไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

คนชายขอบ

ขอบคุณภาพจาก www.pixabay.com