ลดดอกเบี้ยช่วยเศรษฐกิจได้ไหม?

ทุกครั้งที่เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวลง มาตรการหนึ่งที่เราจะเห็นเป็นประจำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในส่วนของนโยบายการเงิน คือ การเรียกร้องให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 

และท่ามกลาง “วิกฤตไวรัสถล่มโลก:โควิด-19” นี้ ก็เช่นกัน ที่เราได้เห็นธนาคารกลางส่วนใหญ่ของโลก โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมหลักปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงเพียงเดือนเดียว เฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง จนล่าสุดอยู่ที่ 0-0.25% 

สำหรับบ้านเรา หลังจากที่เศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับผลกระทบชัดเจนจากโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวมเป็น 0.5% ส่งให้ในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย หรืออัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร ระยะ 1 วัน อยู่ที่ระดับ 0.75% ต่อปี ซึ่งถือว่า เป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ของการเริ่มตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเสียงเรียกร้องให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ในขณะที่นักวิเคราะห์บางราย พูดถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นศูนย์ หรือติดลบ ในขณะที่ การประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุดของธปท.ซึ่ง กนง.ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อนนั้น ระบุในแถลงการณ์ว่า ในลักษณะที่ต้องการ “เก็บกระสุน” ไว้บ้าง ในการต่อสู้ที่อาจจะยาวนานกับวิกฤตโควิด-19

ขณะที่อีกฝั่งตั้งคำถามที่น่าสนใจเช่นกันว่า “การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ของกนง.ในช่วงเวลาแบบนี้ ซึ่งการส่งผ่านนโยบายทำได้ยากลำบาก ทั้งจากสภาพคล่องที่มีอยู่มากในระบบ รวมทั้ง ความระมัดระวังของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ 

เพราะตามกลไกปกติ เมื่อธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยาย ซ่ึ่งเป็นต้นทุนการกู้ยืมเงินของธนาคารพาญิชย์ ธนาคารพาณิชย์ก็สามารถที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ชั้นดี หรือ MLR อัตราดอกเบี้นเงินกู้รายย่อยชั้นดี หรือ MRR รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชี หรือ MOR ลงได้ ในอัตราที่เท่ากัน หรือมากกว่า 

แต่ที่เห็นได้ในขณะนี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ไม่ได้ปรับลดลงมากตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. บางธนาคารลดดอกเบี้ยเงินกู้ไปเพียง 0.125% และยังมีบางรายที่ตีเนียนๆ ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเลยจนถึงขณะนี้

โดยเหตุผลของธนาคารพาณิชย์ ระบถว่า เนื่องจากภาระจากความเสี่ยงของลูกหนี้ที่สูงขึ้น และยังมีภาระที่ยังต้องนำเงินส่งให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ) ในอัตรา 0.46% ของยอดเงินฝากรวม

ขณะที่ความเสี่ยงของลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น และความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยิ่งระมัดระวังและปฎิเสธการให้กู้มากขึ้น รวมทั้งบางธนาคารถือโอกาสนี้ลดดอกเบี้ยเงินฝากลงอีก ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยกเลิกโครงการอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นในอัตราพิเศษที่สูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลให้ “ฝั่งผู้ฝากเงิน “ ได้รับความเดือดร้อนจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง

เมื่อกลไกบิดเบี้ยว การลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ส่งผ่าน “ผลประโยชน์” นี้ ไปยังประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงเป็นหน้าที่ที่ ธปท.ที่จะต้องหามาตรการเพิ่มเติมมา “กดดอกเบี้ยเงินกู้ลง” เพื่อลดภาระประชาชนมากขึ้น ขณะเดียวกัน “การพักหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยชั่วคราว” เป็นอีกมาตรการที่มีเสียงเรียกร้องให้สถาบันการเงิน พร้อมใจกันเสียสละกำไรระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้”

แต่อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัว “การพักเงินต้น และดอกเบี้ย” นั้น แม้จะดีสำหรับช่วงนี้ และเป็นมาตรการที่ควรทำ เพื่อที่จะช่วยคนส่วนหนึ่งที่ ถูกลดเงินเดือน ถูกพักการทำงาน หรือถูกเลิกจ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่า “เงินต้นหรือดอกเบี้ย” ส่วนนี้จะหายไป เพียงแต่ถูกยกไปไว้ในอนาคต ซึ่งลูกหนี้จะต้องส่งเงินต้น และดอกเบี้ยที่พักไว้วันนี้เต็มจำนวนในปีสุดท้ายของการผ่อนส่ง

ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จะเป็นการลดจำนวนเงินที่ต้องส่งจริงของลูกหนี้ทั้งจำนวน !!!

ทั้งนี้ ล่าสุดในมาตรการเยียวยาและดูแลผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ของรัฐบาลในชุดที่ 3 ธปท.ได้ตัดสินใจ ปรับลดอัตราเงินนำส่งสมทบที่ธนาคารพาณิชย์ ต้องนำส่งให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นรายปีลงครึ่งหนึ่ง จาก 0.46% ลงเหลือ 0.23% ซึ่งจะทำให้เงินนำส่งส่วนนี้ลดลงประมาณ 30,000 ล้านบาท 

โดยในการแถลงข่าว ผู้ว่าการแบงก์ชาติ “วิรไท สันติประภพ” ได้ชี้แจงว่า ส่วนนี้เป็นการลดต้นทุนให้กับธนาคารพาณิชย์โดยตรง ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงลงได้ และการลดดอกเบี้ยเงินกู้จะช่วยลูกหนี้ทุกคนที่ผ่อนส่งอยู่ให้มีภาระหนี้ลดลง

ถ้าเป็นไปได้ตามนี้จริง ธปท.สามารถกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้ ในอัตราที่มากพอ เช่นลดลงสัก 1% จากระดับปัจจุบัน การลดดอกเบี้ยนโยบาย น่าจะช่วยเศรษฐกิจไทย และลดภาระหนี้ที่แบกอยู่บนหลังคนไทยได้มากพอควร