ร้านขายส่ง-ยี่ปัว แห่กักตุนบุหรี่! รอรับรัฐบาลปรับขึ้นภาษีบุหรี่ใหม่ 1 ต.ค.นี้

  • โชห่วยแฉสั่งของได้ลดลงเกินครึ่ง
  • ห่วงบุหรี่เถื่อนจากเพื่อนบ้าน

นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เริ่มมีบรรดายี่ปัวะ ร้านค้าส่งรายใหญ่กักตุนบุหรี่เพื่อรอการปรับขึ้นภาษีในวันที่ 1 ต.ค.นี้แล้ว เห็นได้จากเวลาร้านค้าปลีก โชห่วยสั่งซื้อ จะได้ของน้อยกว่าเดิม เช่น สั่งไป 5 ลัง จะได้รับของเพียง 2 ลัง ซึ่งแม้ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าราคาที่แท้จริงจะขึ้นเท่าไร แต่เชื่อว่าจะแพงขึ้นและมีกำไรเพิ่มแน่นอน โดยหากขึ้นภาษีตามประกาศเดิมจาก 20% เป็น 40% บุหรี่ซอง 60 บาทน่าจะแพงขึ้นซองอีก 15-20 บาทเลยทีเดียว แต่หากมีการทบทวนภาษี ขึ้นราคาซอง 5-6 บาท ก็ยังเป็นราคาที่จูงใจให้กักตุนอยู่ดี เพราะขายได้แพงขึ้นถึง 10%

“ในส่วนประชาชนตอนนี้ยังไม่กระทบ หาซื้อบุหรี่ได้ปกติอยู่ ของยังไม่ขาดตลาด และไม่มีการฉวยขึ้นราคา แต่ห่วงว่าหลังจากนี้อาจมีบุหรี่เถื่อนจากเพื่อนบ้านลักลอบเข้ามาขายมากกว่าเดิม โดยเฉพาะในภาคใต้ที่มีขายเกลื่อนเมือง เนื่องจากมีส่วนต่างของราคาเพิ่ม ซึ่งทำให้ร้านค้าโชห่วยมียอดขายตกลงมาก “

ด้านนายกิตติทัศน์ ผาทอง ผู้จัดการสมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบไทย ภาคียาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มชาวไร่ใบยาสูบเป็นห่วง หากรัฐบาลมีการขึ้นภาษีบุหรี่ในเดือนต.ค.64 จะทำให้ชาวไร่เดือดร้อนหนักกว่าเดิม และถูกลดโควตาการรับซื้อใบยาสูบจากการยาสูบฯ ลงอีก จากปัจจุบันที่ลดโควตารับซื้อไปแล้ว 50% อีกทั้งยังไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ โดยเงินที่จะช่วยชดเชยตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 62/63 จำนวน 159 ล้านบาท ถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ จึงอยากให้อยากให้รัฐหาทางช่วยเยียวยา หรือหาทางเลือกปลูกพืชทดแทน ไม่เช่นนั้นชาวไร่จะอยู่ไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลกระทบต่อการยาสูบแห่งประเทศไทย เชื่อว่าหากมีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ 1 ต.ค.นี้ จะเป็นผลดีต่อการยาสูบฯ เพราะจะทำให้มีช่วงราคาขายทำกำไรได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีกำไรน้อยเพราะถูกกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 60 บาท แต่ในส่วนของประชาชนจะต้องสูบบุหรี่ราคาแพงขึ้นแน่นอน โดยรัฐบาลให้เหตุผลเพื่อต้องการให้คนสูบบุหรี่น้อยลง ขณะเดียวกันยังช่วยให้รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีนำไปพัฒนาประเทศเพิ่ม จากปัจจุบันที่เก็บภาษีบุหรี่ได้ปีละ 60,000 ล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะต้องโจทย์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.การดูแลเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบให้สามารถขายใบยาได้ในราคาที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระของรัฐ 2.การดูแลสุขภาพของประชาชน โดยไม่ส่งเสริมให้คนไทยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 3.การปราบปรามบุหรี่เถื่อน หลังพบปัญหาบุหรี่เถื่อนระบาดอย่างหนักตามแนวชายแดน และ 4.การเก็บรายได้ภาษีเข้ารัฐ