ร่วมส่งผ่านอนาคตของสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ ให้ลูกหลานรุ่นต่อไปด้วยกัน

  • กรมอุตุนิยมวิทยาเชิญชวนคนไทยร่วมตระหนักถึงความสำคัญของ
  • อนาคตของสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น
  • เพื่อให้คนไทยใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมั่นใจ

ดร. ชมภารี  ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา  กล่าวว่า วันที่ 23 มีนาคมของทุกปีเป็นวันอุตุนิยมวิทยาโลก ปีนี้จัดขึ้นพร้อมกับวาระครบรอบ 150 ปีของการก่อตั้งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO : World Meteorological Organization) นับตั้งแต่ พ.ศ. 2416 ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ WMO เน้นย้ำถึงความสำเร็จในอดีต ความก้าวหน้าในปัจจุบัน และศักยภาพในอนาคต  เชิญชวนให้สังคมโลกตระหนักถึงผลกระทบร้ายแรงจากการที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น สภาพอากาศมีความรุนแรงมากขึ้น อุณหภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรอุ่นขึ้นและมีฤทธิ์เป็นกรดมากขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น รวมถึงธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย เหล่านี้ล้วนเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไข เพื่อให้คนรุ่นต่อไปสามารถดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้ 

ทั้งนี้ในฐานะสมาชิกของ WMO นั้น กรมอุตุนิยมวิทยาได้ร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลกร่วมกับประเทศสมาชิก 187 ประเทศ และ 6 ดินแดนสมาชิกเช่นกัน โดยปีนี้กำหนดจัดงานในรูปแบบงานสัมมนาวิชาการที่เรียบง่าย ภายใต้แนวคิด “The Future of Weather, Climate and Water across Generations : อนาคตของสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น” เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในประเทศ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป  

“เมื่อวันที่ 13-16 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาคของสมาคมภูมิภาค II (เอเชีย) ณ กรุงอาบู ดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รับทราบยุทธศาสตร์ WMO ที่มุ่งเน้นการเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับทุกคน หรือเรียกว่าโครงการ “Early Warning for All” เป็นโครงการที่มีความเข้มข้นในระดับโลกของกรมอุตุนิยมวิทยาให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันของทุกประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนด้านการศึกษาวิจัย การรวบรวมองค์ความรู้ในสาขาต่าง ๆ ทั้งการวิจัยด้านพยากรณ์อากาศโลก การวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก การเฝ้าระวังชั้นบรรยากาศโลก การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาค RA II เพื่อเสริมสร้างและขยายกรอบงานวิจัย สนับสนุนความยืดหยุ่นด้านภัยพิบัติในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงภายในไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า ดังนั้น จึงเป็นสัญญาณที่ดีที่ความร่วมมือของประชาคมโลก WMO ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ จะช่วยพัฒนาศักยภาพให้การพยากรณ์อากาศและบริการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศดีขึ้น แม่นยำขึ้น และทันเวลามากขึ้น เพื่อให้คนไทยใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมั่นใจ หากเกิดสภาพอากาศร้ายหรือภัยพิบัติจะได้รับการเตือนภัยล่วงหน้าอย่างทั่วถึง 

“ขอเชิญชวนคนไทยร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลก 23 มีนาคม 2566 ตระหนักและร่วมมือกันลดการปล่อยมลพิษ เลือกใช้แหล่งพลังงานที่มีการปล่อยมลพิษต่ำ รวมถึงเพิ่มการดูดซับกักเก็บคาร์บอนด้วยวิธีที่แต่ละคนชื่นชอบ เช่น การปลูกต้นไม้ มาเพื่อร่วมส่งผ่านอนาคตของสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ จากรุ่นสู่รุ่นไปด้วยกัน”