รู้เร็วรอด ปลอดอัมพาต ด้วย DMS Telemedicine Refer ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

  • กรมการแพทย์ ได้เริ่มการใช้โปรแกรม DMS Telemedicine refer
  • ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ใช้งานง่ายและรวดเร็ว
  • ส่งตัวผู้ป่วยเพื่อทำการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดสมอง

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โปรแกรมรับส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน (stroke refer) พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยในการส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมาทำการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดสมอง (thrombectomy) เนื่องจากปัญหาเดิม ในการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลคือ การใช้โทรศัพท์สื่อสาร  มีข้อจำกัดเรื่องการให้ข้อมูลภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เมื่อใช้ social media เช่น Line ในการ ส่งภาพ ข้อดีคือ สะดวก รวดเร็ว แต่อาจทำให้ภาพรังสีที่ได้  ไม่มีความคมชัดเพียงพอ ก่อให้เกิดความผิดพลาดในการแปลผลเอกซเรย์สมองได้ ตามนโยบายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   ทางศูนย์ความเป็นเลิศโรคหลอดเลือดสมองสถาบันประสาทวิทยาร่วมกับสำนักงานดิจิทัลทางการแพทย์ จึงร่วมกันพัฒนาโปรแกรมรับส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน (stroke refer) เพื่อให้แพทย์ผู้รับส่งต่อสามารถ   ดูข้อมูลผู้ป่วยได้ในหลากหลายอุปกรณ์ โดยต่อยอดมาจากโปรแกรม DMS telemedicine ที่กรมการแพทย์ได้พัฒนา  เพื่อใช้ตรวจออนไลน์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันประสาทวิทยากับเขตสุขภาพที่ 6 ได้รับส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลันเพื่อมาทำการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดสมองที่สถาบันประสาทวิทยา และมีการพัฒนาระบบการส่งต่อเรื่อยมา เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น โดยมีการพัฒนาการใช้โปรแกรม DMS Telemedicine เพื่อช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้รับข้อมูลผู้ป่วย และข้อมูลภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองได้ครบถ้วน ภาพคมชัด และเป็นโปรแกรมที่ง่ายต่อการใช้งาน และทำให้การส่งข้อมูลต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว การได้   รับข้อมูลภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองมีความคมชัด ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจรับผู้ป่วยมารักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดสมองได้ทันเวลา สามารถนำลิ่มเลือดที่อุดตันออกมาได้อย่างปลอดภัย ช่วยลดความพิการ ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นจึงนับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นถือเป็นจุดเริ่มต้นการใช้โปรแกรมในการส่งต่อผู้ป่วยในระดับเขตสุขภาพ และอาจพัฒนาไปใช้ทั่วทั้งประเทศได้ในอนาคต