ราคาสินค้าแพงดันค่าครองชีพพุ่ง คนไทยใช้จ่ายครัวเรือนขยับเพิ่มอีก 54 บาทต่อเดือน

  • เปิดค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยปี 65
  • จากเดือนม.ค. 17,321 บาท
  • จนถึงเดือนธ.ค.ขยับเป็น 18,136 บาท

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนม.ค.66 ว่า เท่ากับ 108.18 สูงขึ้น 5.02% เมื่อเทียบดัชนีเดือนม.ค.65 ที่อยู่ที่ 103.01 ถือว่าเป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนธ.ค.65 ที่สูงถึง 5.89% และเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับจากเดือนพ.ค.65 เป็นผลจากการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหาร

เงินเฟ้อของไทยที่ทยอยลดลงต่อเนื่อง และเดือนม.ค.66 ที่ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน เป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ เพราะเงินเฟ้อไทยแต่ละเดือนที่เพิ่มขึ้นมาก ได้รับอิทธิพลจากราคาน้ำมันเป็นหลัก อย่างเดือนม.ค.66 ที่เพิ่มขึ้น 5.02% มีอิทธิพลของราคาน้ำมันอยู่ถึง 1%

อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ ที่สูงขึ้น 5.02% เป็นผลมาจากราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น 343 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นทุกประเภท ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ รถเมล์เล็ก/รถสองแถว รถแท็กซี่ เครื่องบิน วัสดุก่อสร้าง ค่าแรงช่าง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน ค่าแต่งผมชาย) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด เช่นน้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก มีเพียง 45 รายการที่ราคาลดลง และ 42 รายการราคาไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อโฟกัสค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ที่ครอบคลุมสินค้าและบริการ 7 หมวดที่จำเป็นต่อการครองชีพ ได้แก่ 1. หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2. หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 3. หมวดเคหสถาน 4. หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 5. หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร 6.หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ และ7.หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์

ทั้งนี้พบว่า เดือนม.ค.2566 ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 18,190 บาท เพิ่มขึ้น 54 บาทจากเดือนธ.ค.65 ที่อยู่ที่ 18,136 บาท โดยใช้จ่ายเป็นค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ มากสุดถึง 4,230 บาท ตามด้วยค่าเช่าบ้าน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน 4,032 บาท, เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 1,765 บาท, อาหารบริโภคในบ้าน ดีลิเวอรี่ 1,632 บาท, อาหารบริโภคนอกบ้าน เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง KFC ฯลฯ 1,249 บาท ,ค่าผักและผลไม้ 1,033 บาท ,ค่าแพทย์ ค่ายาและค่าบริการส่วนบุคคล 980 บาท,ค่าหนังสือ ค่าสันทนาการ ค่าเล่าเรียนและการกุศลต่างๆ 761 บาท, ค่าข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 676 บาท, เครื่องปรุงอาหาร 429 บาท, เครื่องดื่มไม่มีอัลกอฮอล์ 397 บาท, ค่าไข่และผลิตภัณฑ์นม 391บาท,ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 375 บาท ,ค่าบุหรี่ ค่าเหล้า ค่าเบียร์ 241 บาท

หากย้อนดูค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ค่าพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน ค่าใช้จ่ายครัวเรือนของไทยก็เริ่มปรับเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดย ในเดือนม.ค.ปี 2565 ค่าใช้จ่ายครัวเรือนของคนไทยอยู่ที่ 17,321 บาท และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกเดือนจนถึงเดือนธ.ค.คนไทยใช้จ่ายเพิ่มเป็น 18,136 บาท หรือทั้งปีเพิ่มขึ้น 815 บาท

โดยในจำนวนค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่อยู่ในอันดับต้นๆ ก็จะพบว่า ค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงสุดในบรรดาค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยปี 65 ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้น 145 บาท จากเดือนม.ค. 4,057 บาท มาเป็น 4,202 บาทในเดือน ธ.ค.  รองลงมาก็เป็นค่าเช่าบ้าน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน ทั้งปีขยับเพิ่มขึ้น 108 บาท จากเดือนม.ค. 3,910 บาท มาเป็น 4,018 บาทในเดือนธ.ค.

จะเห็นว่า ราคาพลังงานยังเป็นส่วนสำคัญต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทย เนื่องจากราคาพลังงานทั้งค่าน้ำมัน และค่าไฟฟ้า เป็นต้นทุนหลักในการผลิตสินค้า ซึ่งคนไทยยังต้องเตรียมเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นอีกเพื่อใช้จ่ายในค่าครองชีพเพราะเพียงเริ่มต้นปี2566 ค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยในเดือนม.ค.ก็เพิ่มขึ้นแล้ว 54 บาท