ราคาน้ำมัน-อาหารสดพุ่งดันเงินเฟ้อพ.ค.ทะยาน

.เพิ่ม 2.4% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

.แต่อานิสงส์ลดค่าน้ำ-ไฟฟ้าของรัฐฉุดไม่ให้โตเร็วเกินไป

.แนวโน้มเดือนมิ.ย.เพิ่มต่อส่วนทั้งปี 64 คาดโต 0.7-17%

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพ.ค.64 ว่า เท่ากับ 99.55 เทียบกับเดือนเม.ย.64 ลดลง 0.93% แต่เทียบกับเดือนพ.ค.63 เพิ่มขึ้น 2.44% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่เพิ่มในอัตราที่ชะลอลง ส่วนดัชนีเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.83% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออกจากการคำนวณ พบว่า เดือนพ.ค.64 ดัชนีอยู่ที่ 100.45 ลดลง 0.11% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.64 แต่เพิ่มขึ้น 0.49% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.63 และเฉลี่ย 5 เดือนเพิ่มขึ้น 0.23%  

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อยังคงขยายตัวสูงขึ้น มาจากการสูงขึ้นของราคาพลังงาน 24.79% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นสูงถึง 36.49% และยังมีการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอาหารสด เช่น เนื้อสุกร อาหารทะเล ผลไม้ ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ก็ได้รับผลดีจากมาตรการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาของรัฐบาล และการลดลงของอาหารสดบางชนิด เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ ผักสด ที่เป็นปัจจัยชะลอไม่ให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงเร็วเกินไป ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ

ทั้งนี้ ในเดือนพ.ค.64 มีสินค้าที่ราคาเพิ่มสูงขึ้น 220 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ค่าประปา น้ำมันพืช เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู ข้าวราดแกง เงาะ กล้วยน้ำว้า, ราคาลดลง 141 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว พริกสด หอมแดง ผักชี มะเขือ แตงกวา กระเทียม ชะอม เป็นต้น และไม่เปลี่ยนแปลง 69 รายการ

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.64 คาดว่าจะยังคงเป็นบวก แต่ไม่น่าจะสูงเท่ากับเดือนพ.ค.64 โดยไตรมาส 2 คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.30% ส่วนไตรมาส 3 และ 4 ยังเป็นบวกอยู่ แต่จะค่อยๆ ลดลง โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงาน สินค้าอาหารสด ที่มีทั้งบวกและลบ โดยกลุ่มที่คาดว่าจะลดลง เช่น ข้าว ผักสด ผลไม้บางชนิด ที่จะมีราคาผันผวนบ้าง ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช่อาหารสด ค่อนข้างนิ่ง ยกเว้นมีมาตรการรัฐ ที่จะเข้ามาช่วยลดค่าครองชีพ จะเป็นตัวเบี่ยงเบน

“สนค.คาดว่า เงินเฟ้อในปี 64 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7–1.7% มีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนเป้าหมายตัวเลขเงินเฟ้อของปีนี้อีกครั้ง”