ราคาน้ำมันดัน-อาหารสดเงินเฟ้อก.ค.64 พุ่ง 0.45%

.โตต่อเนื่อง 4 เดือนติดแต่เพิ่งอัตราชะลอลง

.อานิสงส์มาตรการลดค่าน้ำ-ไฟช่วยลดความร้อนแรง

.พณิชย์คาดทั้งปี 64 คาดขยายตัวไม่เกิน 1.2%

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.ค.64 ว่า เท่ากับ 99.81 เทียบกับเดือนมิ.ย.64 ลดลง 0.12% แต่ถ้าเทียบกับเดือนก.ค.63 เพิ่มขึ้น 0.45% ซึ่งสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่เพิ่มในอัตราที่ชะลอตัวลง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.83% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออกจากการคำนวณ พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 100.50 เพิ่มขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.64 และเพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.63 ขณะที่เฉลี่ย 7 เดือน เพิ่มขึ้น 0.26% 

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อยังคงขยายตัว มาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เพิ่มสูงขึ้น 29.35% อาหารสดบางชนิด เช่น เนื้อสุกร ไข่ไก่ ผลไม้สด รวมถึงเครื่องประกอบอาหาร เช่น น้ำมันพืช ซีอิ้ว พริกแกง ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของฐานราคาปี 63 ต่ำ และมีความต้องการเพิ่มขึ้นในบางช่วง  

ขณะที่ปัจจัยทอนไม่ให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก จากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล คือ ลดค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า ที่ลดแรงกว่าเดือนมิ.ย.64 ทำให้จ่ายค่าไฟถูกลง และยังลดค่าธรรมเนียมการศึกษาด้วย, การลดลงของสินค้าอาหารสดบางชนิด เช่น ข้าว ข้าวสารเหนียว ผักสด  โดยเฉพาะผลไม้ภาคใต้ เช่น มังคุด ที่ลดลงมาก, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม และเครื่องนุ่งห่ม ที่ราคาลดลง เพราะความต้องการลดลงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 

“เดือนก.ค.64 กลุ่มที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น มีมากกว่ากลุ่มที่ทำให้เงินเฟ้อหดตัว จึงทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียง 0.45% แต่ถ้าไม่มีมาตรการรัฐ ทั้งลดค่าน้ำ ค่าไฟ จะมีผลทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีก 1.3% ถ้าบวกเข้าไปด้วย จะทำให้เงินเฟ้อเดือนก.ค. วิ่งไปที่ 1.8% พอมีมาตรการมาช่วย ก็ขึ้นไม่มากอย่างที่เห็น” 

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ไตรมาส 3-4 เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.01% และ 1.90% ภายใต้สมมิตฐาน รัฐบาลไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพเพิ่มเติม แต่ถ้ามี ตัวเลขนี้จะลดลงอีก แต่ทั้งปี จะอยู่ที่ 1.18-1.2% หรือยังอยู่ในกรอบ 0.7-1.7% ภายใต้สมมติฐาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 1.5-2.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 60-70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และค่าเงินบาท 30-32 บาทต่อเหรียญฯ ส่วนโอกาสที่จะขยับขึ้นไปถึง 1.7% มีความเป็นไปได้น้อย เพราะราคาน้ำมันไม่ได้ขยับขึ้นต่อเนื่อง และยังมีมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลจนถึงเดือนส.ค.64