รับเปิดบัญชี…มีโทษหนัก รู้ทัน 5 กลโกงป้องกันมิจฉาชีพ แอบเอา “บัญชีเงินฝาก” ของคุณไปใช้

เตือนภัย!! รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร หรือยอมให้ผู้อื่นเอาบัญชีไปใช้ มีโทษทางกฎหมาย โดยเฉพาะ หากบัญชีนั้น ถูกมิจฉาชีพนำไปใช้ในทางทุจริตจะกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการกระทำผิดอาญา หรือกระบวนการฟอกเงิน หรือการฉ้อโกงบุคคลอื่นๆได้

โดยตามกฎหมายการรับจ้างเปิดบัญชีหรือการหลอกให้ผู้อื่นโอนเงินให้เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542 มาตรา 60 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่อย่างไรก็ตาม หลายต่อหลายครั้ง เมื่อเราจับกุมมิจฉาชีพเหล่านี้ได้ “เจ้าของบัญชี”ที่เงินที่ได้จากการทุจริต หรือฉ้อโกง จะยืนยันว่า “ไม่ได้เปิดบัญชีดังกล่าว” ซึ่งตามสำนวนคดีมักไม่รับฟัง

วันนี้ มี 5 วิธีป้องกันเบื้องต้น ไม่ให้คุณตกเป็น “เหยื่อ” ของมิจฉาชีพที่แอบนำ “บัญชีเงินฝาก”เราไปใช้

วิธีแรก ไม่ควรเปิดบัญชีธนาคารให้กับบุคคลทั้งที่รู้จักหรือไม่รู้จัก

ง่ายๆ ตรงๆ แบบไม่ว่าจะทำเพราะใจดีอยากช่วยเหลือ หรือรับเงินค่าจ้างเปิดบัญชี เพื่อนำไปใช้ทำธุรกรรมทางการเงินก็ตาม เพราะเราไม่รู้ว่าเขานำบัญชีเราไปใช้เพื่ออะไรและอย่างไร แต่สำหรับผู้ที่เคยเปิดบัญชีให้ผู้อื่นนำไปใช้ แนะนำรีบปิดบัญชีโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เหล่ามิจฉาชีพนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำการทุจริต และจะได้ไม่เดือดร้อนในภายหลัง

วิธีที่ 2 อย่าให้ใครยืมใช้บัญชี 

บางกรณี ไม่ได้เปิดบัญชีให้ แต่ขอยืมบัญชี เช่น อ้างว่า เป็นคนต่างด้าว บัตรประชาชนหาย หรือไม่มีเอกสาร ต่างๆ นาๆ เปิดบัญชีไม่ได้ จะขอให้คนนั้น คนนี้ ญาติฝั่งโน้น โอนเงินมาให้ แล้วขอให้กดคืนให้เขาที หรือขอเป็นที่รับเงินที่ส่งมาจากต่างประเทศ และเขาอาจจะให้เงินหรือของตอบแทนความช่วยเหลือ เพราะถ้ามีครั้งแรก ก็มีครั้งสอง ครั้งสามตามมา หากเงินที่คุณได้รับมาเป็นค่ายาเสพติด คุณมีสิทธิติดคุกหัวโต

วิธีที่ 3 ป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพ ได้ข้อมูลส่วนตัวของคุณ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำเนาบัตรประชาชน ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง เพราะเขาสามารถนำไปใช้เปิดบัญชีเงินฝากใหม่ในชื่อเราได้ เพราะฉะนั้น หากจะให้สำเนาบัตรประชาชนกับใคร และต้องลงนามกำกับสำเนาถูกต้อง ให้ขีดฆ่าหน้าบัตร และระบุวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ และลงวันที่กำกับไว้ เช่น เพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือ รุ่น….ในวัน/เดือน/ปี นี้ เป็นต้น และอีกข้อสังเกต คือ ควรถ่ายสำเนาบัตรให้เห็นรูปหน้าเราที่ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ธนาคารผู้ท่ีรับสำเนาบัตร เปรียบเทียบกับมิจฉาชีพที่มาเปิดบัญชีแทนเราได้

วิธีที่ 4 อย่าให้รู้ชื่อ และพาสเวิร์ด “ธนาคารออนไลน์”

ในยุคนี้ ไม่ต้องมีเล่มบัญชี ก็โอนเงินกันได้ ดังนั้น ห้ามเด็ดขาด ไม่ให้ใครมารู้ “ชื่อ และรหัสลับ” ที่จะสามารถเข้าไปสู่ธนาคารออนไลน์ของเราได้ ไม่ว่าจะเป็น อินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้ง หรือโมบาย แบงก์กิ้ง เพราะเขาสามารถที่จะเข้าไปเปลี่ยรหัส ทำให้เราที่เป็นเจ้าของบัญชีใช้ไม่ได้ และเอาบัญชีเงินฝากเราไปใช้สบายใจเฉิบ

วิธีที่ 5 หากมีข้อสงสัยให้รีบตรวจสอบทันที

Man using mobile payments online shopping and icon customer network connection on screen, m-banking and omni channel

เช่น บัตรประชาชนหาย มีคนรู้พาสเวิร์ดบัญชี โทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ของเราโดนแฮกเกอร์โจมตี นอกเหนือจากดูแลด้านอื่นๆ แล้ว ให้ลองโทรศัพท์เข้าไปสอบถามที่ธนาคารที่เราใช้ประจำว่า เรามีบัญชีเงินฝากเกิน หรืองอกออกมาจากปกติหรือไม่

ที่สำคัญ ทำใจให้หนักแน่น อย่าเชื่อคนง่ายๆ เพียงเท่านี้เราก็ลดโอกาสตกเป็น “เหยื่อ” ได้ระดับหนึ่งทีเดียว