รัฐ-เอกชนผนึกกำลังรับมืออียูลดโลกร้อน

.หลังออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน

.จี้ผู้นำเข้าต้องซื้อใบรับรองปล่อยคาร์บอนของสินค้า

.แนะผู้ผลิต/ส่งออกไทยปรับการผลิตลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา กรม ได้หารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมยุโรป สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้เผยแพร่ร่างกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และเปิดรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องจนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 28 ก.ย. 2564 (เวลาบรัสเซลส์) เพื่อกำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อน โดยหากอียูเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับในต้นปี 66

สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าของอียูจะต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าไทยไปอียู จะต้องเตรียมปรับตัว และปรับกระบวนการผลิตสินค้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า มาตรการ CBAM จะกระทบกับการส่งออกสินค้าไทยไปอียู โดยเฉพาะเหล็ก เหล็กกล้า และอลูมิเนียม ซึ่งในปี 63 ไทยส่งออกไปอียู 145 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย จึงต้องทำงานร่วมกัน เพื่อศึกษารายละเอียดของมาตรการ และกฎหมายต่างๆ รวมถึงหารือกับอียูเพื่อลดผลกระทบทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น

“อียูจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM กับสินค้า 5 ประเภทก่อน ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม โดยอาจขยายมาตรการให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่นด้วยในอนาคต แต่ได้กำหนดระยะเวลาให้ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกปรับตัวในช่วง 3 ปีแรก หรือปี 66–68 ผู้นำเข้าเพียงแค่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.69 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องซื้อ และส่งมอบใบรับรอง CBAM ในการนำเข้าสินค้าด้วย”

นางอรมน กล่าวต่อว่า มาตรการ CBAM ของอียู เกิดขึ้นหลังจากที่อียูใช้นโยบายโลกสีเขียวไร้มลพิษ (European Green Deal) ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 55% ภายใน 10 ปี หรือในปี 73 และทำให้มีการปล่อยก๊าซเป็น 0 ภายใน 30 ปี หรือปี 93 ส่งผลให้อียูจำเป็นต้องออกมาตรการดังกล่าว เพื่อช่วยผู้ประกอบการอียูไม่ให้มีค่าใช้จ่ายในการปรับระบบการผลิตสินค้า เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเพียงฝ่ายเดียว แต่ผู้ส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในอียู ต้องมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย