รัฐเร่งแก้หนี้ครัวเรือน-เปิดลงทะเบียนแก้หนี้ออนไลน์ 26 ก.ย.-30 พ.ย.ทั่วไทย

แก้หนี้

รัฐเร่งแก้หนี้ครัวเรือน เปิดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้รอบใหม่ ครอบคลุมลูกหนี้ 9 ประเภท 60 เจ้าหนี้ทั้งเอกชน รัฐ นอนแบงก์ ตบเท้าร่วมโครงการ คลัง-ธปท.หลังช่วยลดภาระลูกหนี้ที่แบกหนี้ท่วมหัวในขณะนี้ลงได้ เปิดลงทะเบียนแก้หนี้ออนไลน์ 26 ก.ย.-30 พ.ย.ก่อนบุกลงพื้นที่ 5 จังหวัดทั่วประเทศ แนะลูกหนี้ไม่ต้องหลบซ่อน อย่าหนีอย่าอาย


นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกันเปิดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน”เพื่อเร่งแก้ไขหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากรายได้ที่ลดลงจากวิกฤตโควิด-19 และค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่องอย่างเป็นทางการ


โดยนายสุพัฒนพงษ์ กล่าวเปิดงานว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของประเทศที่รัฐบาลต้องการที่จะแแก้ไข ทั้งหนี้ของประชาชน หนี้ภาคธุรกิจ หนี้เพื่อการศึกษา โดยมั่นใจว่า ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ใหม่จะออกมาได้ในเดือน พ.ย.นี้ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และหนี้ของข้าราชการ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีเจ้าหนี้เข้ามาร่วมกันถึง 60 แห่ง และนอกจากสถาบันการเงินเอกชน ของรัฐ และยังมีส่วนของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เข้ามาร่วมด้วย


“ขอให้เจ้าหนี้ทุกคนพยายามช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อให้ผ่านวิกฤตได้ทั้งกันทั้ง 2 ฝ่าย และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคตด้วย เพราะลูกหนี้เขาจะจำได้ว่า ตอนที่เขาลำบากใครช่วยเขาบ้าง”


ขณะที่นายอาคม กล่าวว่า การจัดมหกรรมครั้งนี้จะช่วยลูกหนี้ทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งลูกหนี้ที่ยังผ่อนชำระอยู่ แต่เริ่มประสบปัญหารายได้ หรือค่าครองชีพ และมีปัญหาในการชำระหนี้ รวมทั้งลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้ว หรือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล​) “ขอให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาไม่ต้องอาย ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกยึดทรัพย์สิน ให้เข้ามาหาเราเพื่อที่จะหาทางแก้ไขหนี้สิน โดยเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ลงได้”


นายอาคม กล่าวต่อว่า มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ จัดใน 2 รูปแบบ คือ แบบออนไลน์ ซึ่งสามารถที่จะเริ่มลงทะเบียนของรับความช่วยเหลือไกล่เกลี่ยหนี้ได้แล้ว และแบบออนไซด์ หรือลงพื้นที่สัญจรไปใน 5 จังหวัด คือ กรุงเทพญ ขอนแก่นเชียงใหม่ หาดใหญ่ และชลบุรี โดยรูปแบบสัญจรนี้ นอกเหนือจากการปรับโครงสร้างหนี้ โดยใช้เงื่อนไขพิเศษต่างๆ แล้ว จะมีอีก 2 เรื่องที่ทำต่อเนื่องคือ การจัดหาสินเชื่อใหม่สำหรับผู้ที่ต้องการมีอาชีพ หรือต้องการเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อต่อยอด ปรับปรุงหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ และการให้ความรู้และสร้างวินัยทางการเงิน และการทำธุรกิจ


ด้านนายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า จากหนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ที่ระดับ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2557 ล่าสุดไตรมาสที่ 2 ของปีนี้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 88% ของจีดีพี และในช่วงสูงสุดของวิกฤตโควิด-19 ในเดือน ก.ค.63 ที่ผ่านมา เรามีลูกหนี้ที่เข้ารับการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ 12.5 ล้านคนมูลหนี้ 7.2 ล้านล้านบาท หรือ 40% ของลูกหนี้ในระบบ และแม้ว่าล่าสุดเดือน มิ.ย.ปีนี้ลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการการช่วยเหลือของสถาบันการเงินจะลดลงเหลือ 3.9 ล้านคน มูลหนี้ 3 ล้านล้านบาทแล้ว แต่ยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ผู้ที่มีอาชีพอิสระ และผู้ที่ีมีรายได้น้อยที่ยังมัปัญหาการชำระหนี้สิน การทำให้ธปท.ยังคงใช้มาตรการเดิมในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ทำมาตลอด และเพิ่มเติมมาตรการใหม่เช่น การจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ในครั้งนี้ เพื่อลดภาระให้กับคนไทยที่เป็นหนี้ ลดการเกิดหนี้เสียใหม่ และทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ไม่สะดุด


“ทั้งนี้ ธปท.ยังมีแนวทางที่จะช่วยลูกหนี้ต่อไป โดยภายในสิ้นปีนี้จะแนวทางการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน รวมทั้งการออกแนวทางการให้สินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับภาระค่าใช้จ่ายของลูกหนี้มากขึ้น เพื่อช่วยให้คนไทยสามารถบริหารจัดการหนี้สนได้ และเลี่ยงปัญหาก่อหนี้เกินตัว”


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่ และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเป็นการจัดงานร่วมกันของ กระทรวงการคลังและธปท. โดยมีเจ้าหนี้สถาบันการเงินภาคเอกชนและสถาบันการเงินภาครัฐ (SFIs) รวมทั้ง ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) กว่า 60 แห่ง โดยครอบคลุมหนี้ 9 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ประกอบด้วย หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ จำนำทะเบียนรถ ที่อยู่อาศัย นาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อการเกษตร สินเชื่อธุรกิจ หนี้ค่าประกันชดเชย บสย. หนี้ที่โอนไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) และสินเชื่อของผู้ให้บริการทางการเงินภาครัฐ


แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะโดยระยะที่ 1 เป็น “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ออนไลน์” จัดให้ลูกหนี้เข้าร่วมลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 65 เวลา.- 30 พ.ย. 65 โดยลูกหนี้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่และลงทะเบียนที่ www.bot.or.th/debtfair และหากต้องการคำแนะนำก่อนการลงทะเบียนสามารถติดต่อที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร. 1213 Chatbot หมอหนี้ (Line @doctordebt) หรือทาง E-mail: [email protected]


ระยะที่ 2 : “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร” จัดงานในช่วงเดือน พ.ย. 65 – ม.ค. 66 โดยมีเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมได้แก่ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารกรุงไทย เนื่องจากลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากหนี้ปกติ และอาจจะไม่เข้าถึงระบบการลงทะเบียนออนไลน์ และอาจจะมีสถาบันการเงินอื่นๆ เข้าร่วมด้วยเช่นกัน ซึ่งมีการสัญจร 5 ครั้ง ทั่วประเทศ ครั้งแรกที่กรุงเทพฯ วันที่ 4-6 ต.ค. ครั้งที่ 2 วันที่ 18-20 ต.ค. ที่ จ.ขอนแก่น ครั้งที่ 3 จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 16-18 ธ.ค.ครั้งที่ 4 วันที่ 20-22 ม.ค.ที่หาดใหญ่ และครั้งสุดท้ายวันที่ 27-29 ม.ค.ที่จ. ชลบุรี โดยลูกหนี้สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 65 เวลา 15.00 น.


ทั้งนี้ สำหรับกระบวนการหลังจากลูกหนี้ลงทะเบียนแล้ว เจ้าหนี้จะติดต่อกลับภายใน 18 วัน เพื่อให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ดำเนินการพิจารณาเงื่อนไขการแก้ไขหนี้ร่วมกันตามสถานะหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยธปท.มีมาตรฐานขั้นต่ำในการช่วยเหลือลูกหนี้ให้กับสถาบันการเงินที่ชัดเจน และสถาบันการเงินสามารถที่จะช่วยเหลือเพิ่มเติมมากกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ได้ หากลูกหนี้ไม่ได้รับการติดต่อกลับเกินกว่า 18 วันให้ติดต่อสอบถามสถานะของลูกหนี้กลับที่เจ้าหนี้ได้ทันที และหากพบว่าไม่สามารถเข้าร่วมมหกรรมครั้งนี้ได้ ในกรณีหนี้เสียบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลฯ ติดต่อคลินิกแก้หนี้ www.คลินิกแก้หนี้.com และกรณีประเภทหนี้ หรือเจ้าหนี้อื่น นอกมหกรรมครั้งนี้ ลงทะเบียนใหม่ ผ่านทางด่วนแก้หนี้ของ ธปท.