รัฐสั่งปิดรถไฟฟ้าสกัดม็อบ ฉุดรายได้จากค่าโดยสารลดลง 22.71 ล้านบาท

  • สั่งปิด 4 วัน คน ผู้ใช้บริการหายไปประมาณ 757,000 คน
  • จี้รัฐทบทวนคำสั่งปิดรถไฟฟ้าเป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสมหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสเฟสบุ๊คส่วนตัว โดยระบุว่าถ้าอยากรู้ว่าในช่วงที่มีการสั่งปิดรถไฟฟ้า ผู้โดยสารรถไฟฟ้าลดลงมากมั้ย และรายได้จากค่าโดยสารลดลงเท่าไหร่ หาคำตอบได้จากบทความนี้

หลังจากกลุ่มเยาวชนปลดแอกได้จัดชุมนุมกันที่แยกราชประสงค์เมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ 15 ต.ค.2563 ปรากฏว่ามีผู้ไปร่วมชุมนุมกันอย่างเนืองแน่น เนื่องจากเขาสามารถเดินทางเข้าออกแยกราชประสงค์ได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วยรถไฟฟ้า ทำให้สถานที่นัดหมายตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าจึงเป็นที่ปรารถนาของกลุ่มเยาวชนปลดแอก

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนัดหมายให้ไปชุมนุมกันที่แยกราชประสงค์อีกในวันศุกร์ที่ 16 ต.ค. 2563 แต่ตำรวจได้บล็อกพื้นที่ไว้ก่อนถึงเวลานัดหมาย ทำให้กลุ่มเยาวชนปลดแอกต้องเปลี่ยนสถานที่นัดหมายไปที่แยกปทุมวัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่สามารถเดินทางเข้าออกได้โดยสะดวกรวดเร็วด้วยรถไฟฟ้าเช่นเดียวกัน ส่งผลให้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงจึงสั่งปิดการใช้รถไฟฟ้าโดยอ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ ได้มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าบางสถานีในบางช่วงเวลาทันทีที่รู้สถานที่นัดหมายของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ป่าวประกาศเชิญชวนผ่านเพจด้วยข้อความที่น่าติดตาม อาทิ

“วันนี้ภายในเวลา 15.00 น. ขอให้ทุกคนเตรียมตัวประจำที่สถานีรถไฟฟ้าทุกแห่ง”

“15.00 น. โปรดเตรียมตัวให้พร้อมที่สถานีรถไฟฟ้าทุกสถานีใกล้คุณ วันนี้จะไปไหนดีน้าาาาา”

“วันนี้ประมาณบ่ายๆ เราจะนั่งรถไฟฟ้าไปไหนดีน้าาาาา วันนี้อยากไปไหนกัน”

ผมได้รับข้อมูลมาว่าการสั่งปิดรถไฟฟ้าทำให้จำนวนผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงโดยเปรียบเทียบกับวันเดียวกันของสัปดาห์ก่อนหน้าเป็นตัวเลขกลมๆ ดังนี้

  1. วันศุกร์ที่ 16 ต.ค. 2563 มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าบีทีเอสถานีราชดำริ สถานีชิดลม สถานีสยาม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และสถานีราชเทวี และสั่งปิดรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสถานีสามย่าน ทำให้จำนวนผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงดังนี้

1.1 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสลดลงประมาณ 50,000 คน

1.2 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีเพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 คน เหตุที่เพิ่มขึ้นก็เพราะว่าผู้โดยสารเปลี่ยนมาใช้เอ็มอาร์ทีแทนบีทีเอสที่ถูกปิดหลายสถานี ในขณะที่เอ็มอาร์ทีถูกปิดเพียงสถานีเดียวเท่านั้น

2. วันเสาร์ที่ 17 ต.ค.2563 มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีทุกสถานี ทำให้จำนวนผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงดังนี้

2.1 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสลดลงประมาณ 250,000 คน

2.2 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีลดลงประมาณ 150,000 คน

3. วันอาทิตย์ที่ 18 ต.ค. 2563 มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีพหลโยธิน 24 สถานีห้าแยกลาดพร้าว สถานีหมอชิต สถานีอารีย์ สถานีสนามเป้า สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีพญาไท สถานีราชเทวี สถานีอโศก สถานีอุดมสุข สถานีบางนา สถานีช่องนนทรี สถานีสุรศักดิ์ สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่ และสั่งปิดรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสถานีหัวลำโพง สถานีลุมพินี สถานีสุขุมวิท สถานีพหลโยธิน และสถานีจตุจักร ทำให้จำนวนผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงดังนี้

3.1 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสลดลงประมาณ 150,000 คน

3.2 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีลดลง 80,000 คน

4. วันจันทร์ที่ 19 ต.ค. 2563 มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีกรมป่าไม้ สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถานีเสนานิคม ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสลดลงประมาณ 85,000 คน ไม่มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที

รวมจำนวนผู้โดยสารลดลงในช่วงที่สั่งปิดรถไฟฟ้าบางสถานีและบางช่วงเวลาระหว่างวันที่ 16-19 ต.ค. 2563 ประมาณ 757,000 คน ผมประเมินพบว่าค่าโดยสารเฉลี่ยเท่ากับ 30 บาท/คน ดังนั้น รายได้จากค่าโดยสารลดลงประมาณ 22.71 ล้านบาท

จำนวนเงิน 22.71 ล้านบาท ไม่เป็นภาระหนักของรัฐที่จะต้องชดเชยให้เอกชนที่รับสัมปทาน แต่เป็นภาระหนักของรัฐที่จะต้องชี้แจงให้พี่น้องประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเข้าใจว่าเหตุใดรัฐจึงสั่งให้ปิดรถไฟฟ้าจนทำให้เขาเดือดร้อน ต้องเสียทั้งเงินและเวลาเพิ่มขึ้น เนื่องจากแม้ว่ารัฐได้สั่งให้ปิดรถไฟฟ้าแล้วก็ตาม แต่ผู้เข้าร่วมชุมนุมก็ยังคงมีมากอยู่ดี

ดังนั้น รัฐควรทบทวนว่าการสั่งปิดรถไฟฟ้าเป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสมหรือไม่?

#ปิดรถไฟฟ้า ดูน้อยลง