รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนประเทศไทย 5G เต็มรูปแบบ

  • นายกฯฝากแก้ข้อกฎหมายที่ติดขัด
  • เน้นพัฒนาคนตั้งแต่วัยเยาว์
  • ชี้รัฐลงทุนแล้วต้องมีการใช้อย่างคุ้มค่า

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ซึ่งนับเป็นการประชุมครั้งแรก ได้เห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการใช้ 5G ในประเทศไทย ประกอบด้วย 1.มาตรการส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และกำหนดให้การวางระบบโครงข่ายไฟเบอร์เพื่อบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสาธารณูปโภค เช่นเดียวกับระบบน้ำ ไฟฟ้า 2.มาตรการยกเลิกและลดข้อจำกัดเพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ การพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ร่วมกันได้ การลดขั้นตอนติดตั้งสถานีฐานในพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย โดยไม่บังคับให้ทำประชาพิจารณ์ และควรลดอุปสรรคการนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องวิทยุคมนาคม รวมถึงการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเครื่อง

3.มาตรการภาษีในการส่งเสริมการวางโครงข่ายไฟเบอร์ เนื่องจากมีความสำคัญต่อการขยายโครงข่าย 5G และควรส่งเสริมการลงทุนขยายโครงข่าย เช่น การลดภาษีนิติบุคคลสำหรับการลงทุนโครงข่ายและอุตสาหกรรมอื่น เช่น โรงงาน อาคาร หมู่บ้าน 4.ให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ให้เป็นระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ

“นายกรัฐมนตรีได้ฝากให้ดูว่ามีข้อกฏหมายใดที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี 5G หากติดขัดตรงใดก็ให้ปรับแก้ให้ทันสมัย รวมทั้งให้พัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อน 5G เพราะการที่รัฐบาลให้การสนับสนุน 5G ก็เปรียบเสมือนสร้างถนนขนาดใหญ่ ก็ต้องมีรถยนต์มาวิ่งบนถนนให้เกิดความคุ้มค่าด้วย ดังนั้น การใช้ประโยชน์ 5G ก็จะต้องส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงในบริษัทอัจฉริยะ ประชาชน คนในภาคธุรกิจต่างๆ เพราะการที่จะเป็นสมาร์ท ซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะได้ จะต้องให้ความรู้ประชาชนตั้งแต่วัยเยาว์ด้วย”

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุม ได้เห็นชอบโครงการนำร่องการใช้ประโยชน์ 5Gของประเทศไทยในระยะสั้น ประกอบด้วย การส่งเสริมเกษตรดิจิทัล 2 โครงการที่เป็นโครงการหลวง ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาควบคุมการดูแลเพาะปลูกได้แก่ ที่ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี อ.ดอยตุง จ.เชียงราย และโครงการร้อยใจรักษ์ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมป์ ซึ่งที่ประชุมมอบให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)ไปร่วมดำเนินการ ซึ่งภายใน 1 ปีจะประเมินผลเพื่อนำไปต่อยอดขยายผลทั่วประเทศ นอกจากนี้ มีทางด้านสาธารณสุข ได้แก่ โครงการนำร่องโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ดำเนินการโดยโรงพยาบาลศิริราช เป็นการนำเทคโนโลยี 5G มาพัฒนาสาธารณสุขรูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มคุรภาพการรักษา และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการสุขภาพของประชาชน หากทำได้สำเร็จ จะขยายไปทำในโรงพยาบาลอื่น ประชาชนจะได้ประโยชน์ทั้งประเทศ