รัฐบาลย้ำ! “ทรัพยากรน้ำ” เป็นวาระแห่งชาติ ผลักดัน 44 โครงการสำคัญระดับประเทศ

  • เผยปี 64-65 ไม่เจอภัยแล้ง
  • ยกระดับองค์ความรู้ผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ

วันที่ 29 ม.ค.66 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เน้นย้ำให้ความสำคัญกับทรัพยากรน้ำและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการกำหนดนโยบายวางแผนการบริการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบครบวงจร ทำให้การขับเคลื่อนการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐในปัจจุบันมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์หลายด้าน ทั้งการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 เพื่อเป็นองค์กรกลางด้านน้ำ มีภารกิจครอบคลุมการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 และแผนแม่บททรัพยากรน้ำ 20 ปี ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย

ขณะเดียวกันได้ยกระดับองค์ความรู้ผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมไปถึงการปรับปรุงแผนแม่บทน้ำ การขับเคลื่อนโครงการสำคัญระดับประเทศโดยผลักดันสู่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. ถึง 44 โครงการ การกำหนดมาตรการรองรับฤดูฝน ฤดูแล้ง การจัดทำกฎหมายลำดับรองที่แล้วเสร็จไป 25 ฉบับ การจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ การก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ การจัดทำผังน้ำเสร็จไป 8 ลุ่มน้ำ เช่น ผังน้ำลุ่มน้ำชี มูล เจ้าพระยา และท่าจีน และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 6 โครงการ เช่น ผังน้ำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน การทำแอปพลิเคชันต่างๆเช่น Thai water plan (TWP), Thai Water Assessment (TWA), National Thai water เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการซึ่งมีความก้าวหน้าที่ใกล้เข้าสู่ความสำเร็จในหลายด้าน ทั้งด้านแผน เช่น ปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทน้ำ 20 ปี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ธรรมชาติเป็นฐาน ซึ่งแผนแม่บทที่ได้มาจะขยายผลไปในแผนแม่บทลุ่มน้ำที่จะเชื่อมโยงระดับพื้นที่ไปสู่แผนปฏิบัติการ ด้านบูรณาการจัดการน้ำ เช่น ใช้การบริหารจัดการน้ำแบบกลุ่มภูมิภาคและลุ่มน้ำ รวมถึงเน้นการป้องกันเชิงรุก ซึ่งการขับเคลื่อนมาตรการฤดูแล้ง ปี 64/65 ส่งผลให้มีการเพาะปลูกเกินแผนเพียง 1.69 ล้านไร่ เมื่อเทียบกับฤดูแล้ง ปี 63/64 ที่มีการเพาะปลูกเกินแผนมากกว่า 4.3 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายน้อยลง รวมถึงการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปี 64/65 ไม่มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง