รัฐบาลทุ่ม 86,355 ล้านบาทประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปาล์มน้ำมัน และยางพาราและช่วยชาวนาปลูกข้าวนาปี

มอบให้ ธ.ก.ส.จ่ายไปก่อนแล้วรัฐบาลค่อยจัดงบปี 2563 และปีถัดๆ ไปคืนให้ภายหลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 27 ส.ค.2562 ได้เห็นชอบกรอบวงเงินที่รัฐบาลต้องใช้สำหรับประกันราคาสินค้าเกษตร 3 ชนิด คือ ข้าว 21,495 ล้านบาท ปาล์มน้ำมัน 13,378 ล้านบาท ตลอดจนเงินช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าวนาปี 25,482 ล้านบาท ที่อนุมัติในครั้งนี้ และยางพาราอีก 26,000 ล้านบาท ที่จะเข้า ครม.ในอีก 2 สัปดาห์ รวมแล้วรัฐบาลต้องทุ่มเม็ดเงินร่วม 86,355 ล้านบาท ในการดูแลเกษตรกร
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและปาล์มน้ำมัน ปีการผลิต 2562/2563 ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรปลูกข้าวและปาล์มในภาวะราคาตกต่ำ 2.ป้องกันความเสี่ยงด้านราคาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน 3.ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำโดยไม่เป็นการแทรกแซงราคาตลาดโดยกำหนดราคาคุณภาพ และปริมาณในการรับประกัน ดำเนินการผ่านกลไกการมีส่วนร่วมสามฝ่ายคือ รัฐ เอกชน และเกษตรกร

สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรปลูกข้าว ครม. อนุมัติ วงเงิน 21,495ล้านบาท เพื่อใช้ในการประกันรายได้เกษตรกร ปลูกข้าว 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน16ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 10,000บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน30ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน16 ตัน ระยะเวลาโครงการ ต.ค.2562 – ต.ค. 2563 โดยเกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชย คือผู้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2562/63 กับกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ โดยเกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างโอนเข้าบัญชีธนาคาร ธ.ก.ส.โดยตรงหากราคาตลาดต่ำกว่าราคารับประกันรายได้ ซึ่ง ณ ปี 2562 มีเกษตรกรปลูกข้าวปี 2562 จำนวน 892,176 ครัวเรือน

ส่วนโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน 13,378 ล้านบาท เป็นเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 300,000 ราย โดยมีระยะเวลาโครงการ ส.ค. 2562 – ก.ย. 2563 โดยปาล์มที่เข้าโครงการจะต้องมีคุณภาพน้ำมัน 18% ประกันราคาที่ กก.ละ 4บาท ณ หน้าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม (ใช้เกณฑ์ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ3บาท บวกค่าขนส่ง กิโลกรัมละ 0.25 และผลตอบแทนให้เกษตรกร 23% หรือกิโลกรัมละ 0.75บาท) โดยให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ และเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้วมีอายุไม่น้อยกว่า3ปี เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างโอนเข้าบัญชีธนาคารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)โดยตรงหากราคาตลาดต่ำกว่าราคารับประกันรายได้

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า แหล่งงบประมาณที่จะใช้สำหรับการช่วยเหลือและประกันรายได้เกษตรกร จะดำเนินการลักษณะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จ่ายไปก่อน และจัดสรรงบประมาณชดเชยในปีงบประมาณ 2563-64 ต่อไป

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ครม.ได้เห็นชอบสนับสนุนงบประมาณไม่เกิน25,482 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 โดยเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาทครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ที่กระทรวงการคลังเสนอเข้า ครม.เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์สำรองจ่ายไปก่อน และรัฐจะจัดเงินชดเชยคืนให้จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และปีต่อๆไปตามภาระที่เกิดขึ้นจริง ขณะเดียวกันนายกฯสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการดูแลราคาสินค้าเกษตรทั้งหมด ต้องทำโครงการด้วยความระมัดระวัง โดยต้องดูกรอบกฎหมายต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการไม่เกิดข้อกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงราคาตลาดเหมือนในอดีต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า อีก 2 สัปดาห์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำเรื่องของการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ในราคา 60 บาท/กิโลกรัม(ก.ก.) เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เบื้องต้นใช้งบประมาณไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการดูในเรื่องของระเบียบและวีธีปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และดูในรอบด้าน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือที่ถือบัตรสีชมพู เพื่อให้สามารถรับเงินชดเชยราคายางพาราได้ ทั้งนี้ กลุ่มชาวสวนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ อาจต้องหารือใน คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) หรือหน่วยงานท่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือร่วมกันนำเทคโนโลยีมาใช้สำรวจพื้นที่ถือครองที่ดิน จะใช้ดาวเทียมเข้ามาจับดูพื้นที่สวนยางว่าเกี่ยวข้องกับใคร เพื่อหาทางออกร่วมกัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว. พาณิชย์ กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว. เกษตรและสหกรณ์ แจ้งให้ทราบถึงขั้นตอนการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางจะเสนอ ครม.ได้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยจะมีการประกันรายได้สำหรับ ยางพารา 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบชั้น 3 น้ำยางสด และยางก้นถ้วย จะคิดจากเนื้อยางแห้งจริงๆในการคำนวณ โดยใช้กรอบงบประมาณ ในการประกันรายได้ ในช่วง 6 เดือนแรก ที่จะเริ่มในเดือนต.ค. 2562 เป็นต้นไป อยู่ที่ 26,000 ล้านบาท โดยใช้เงิน ธ.ก.ส.จ่ายไปก่อนแล้วรัฐบาลค่อยตั้งงบประมาณมาชดเชยให้ภายหลัง