รัฐบาลทำทุกทางหาเงิน 7.6 หมื่นล้านบาท จ่ายประกันราคาข้าว

. เตรียมเสนอ ครม.อังคารหน้า ทั้งเจียดงบกลางปี 65

.ขยับเพดานชำระหนี้เป็น 35% ของงบประมาณรายจ่าย

.นายกฯสั่งปรับแผน ราคารับซื้อ ลดต้นทุนเกษตรกร

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า หลังจาก ครม.อนุมัติจ่ายเงินประกันราคาข้าวนาปี 64/65 จำนวน 18,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยส่วนต่างให้กับชาวนา ในรอบแรกไปแล้ว โดยยังเหลืออีก 76,000 ล้านบาท ต้องจัดหามาจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรให้ครบตามโครงการ เมื่อรวมกับค่าบริหารจัดการ ในมาตรการคู่ขนานอีก 50,000 ล้านบาท ต้องใช้วงเงิน 1.26 แสนล้านบาท

ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ จึงเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ขยายกรอบอัตรายอดคงค้างภาระหนี้ที่ภาครัฐต้องชดเชยตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ มาตรา 28 จาก 30% เพิ่มเป็น 35% ของเงินงบประมาณประจำปี เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อกลับมาชำระคืนในปี 65 การขยับเพดานทำให้มีวงเงินจาก 1.55 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 1.6 แสนล้านบาท โดยนำส่วนที่ยืดเวลาออกไปตาม มาตรา 28 รวมกับงบประมาณงบกลางปี 65 รวมยอดเงิน 7.6 หมื่นล้านบาท นำมาจ่ายให้เกษตรกรประกันราคาข้าว เพื่อเปิดวงเงินรองรับ โครงการประกันรายได้พืชผลเกษตร ทั้งการประกันรายได้ข้าวและยางพารา เตรียมเสนอที่ประชุม ครม.ในวันอังคารหน้า

นายอาคม กล่าวต่อว่า ดังนั้นเมื่อที่ประชุม ครม.เห็นชอบ คณะอนุกรรมการจะทยอยประกาศราคารับซื้อข้าวเปลือก เพื่อชดเชยราคาส่วนต่างให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และยางพารา ผ่าน ธ.ก.ส. เหมือนที่เคยจ่ายในรอบแรก นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงบประมาณ พิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง นำโครงการประกันรายได้พืชผลเกษตรบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณปกติ เพื่อไม่ให้มีการสะสมเป็นภาระการคลังตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฯ มาตรา 28 เนื่องจากรัฐบาลต้องตั้งงบประมาณชดเชยให้กับแบงก์รัฐอีกหลายโครงการ เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณล่วงหน้า