ระวัง!การค้าโลกระส่ำ สหรัฐฯ-อียูงัดข้อการค้า

  • เกาะติด2ยักษ์ใหญ่มีข้อพิพาททางการค้า
  • พาณิชย์หวั่นเกิดผลกระทบการค้าโลก
  • ถ้าสหรัฐฯ-อียูขึ้นภาษีตอบโต้ระหว่างกัน

“พาณิชย์” เกาะติดสหรัฐฯ-อียู  2 ยักษ์ใหญ่งัดข้อทางการค้า หลังดับบลิวทีโอตัดสิน 2 ประเทศใช้มาตรการอุดหนุน “แอร์บัส-โบอิ้ง” จนกระทบกันและกัน ผิดหลักการณ์ดับบลิวทีโอ  ส่งผลให้สหรัฐฯ เพิ่มรายการสินค้าตอบโต้อียูด้วยการขึ้นภาษีอีก 89 รายการจากเดิม 317 รายการ มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านเหรียญฯ ส่วนอียู เตรียมขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 1.2 หมื่นล้านเหรียญฯ  

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค.62 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ได้ประกาศร่างรายการสินค้าที่สหรัฐฯ เตรียมขึ้นภาษีตอบโต้สหภาพยุโรป (อียู) หลังจากที่องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) มีคำตัดสินเมื่อปี 61 อนุญาตให้สหรัฐฯ มีสิทธิใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้อียูได้ เนื่องจากพิจารณาแล้ว พบว่า มาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินของอียู โดยเฉพาะบริษัท แอร์บัส เช่น การให้เงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาโรงงานผลิต, จัดหาเงินทุนสำหรับการออกแบบและพัฒนาเครื่องบิน เป็นต้น เข้าข่ายเป็นการอุดหนุนส่งออกที่ขัดกับกฎเกณฑ์ของดับบลิวทีโอ และก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสหรัฐฯ ซึ่งอียูต้องยกเลิกมาตรการ แต่อียูกลับยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามคำตัดสิน ส่งผลให้สหรัฐฯ มีสิทธิใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากอียูได้

ทั้งนี้ ในประกาศดังกล่าว สหรัฐฯได้เพิ่มเติมรายการสินค้าใหม่อีก 89 รายการที่เตรียมใช้มาตรการตอบโต้อียู เช่น เนื้อหมู, ชีส, มะกอก, วิสกี้ และท่อเหล็ก มูลค่ากว่า 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมที่กำหนดไว้ 317 ราาร เช่น ตัวถังเครื่องบินโดยสาร, ชิ้นส่วนประกอบของลำเครื่องบินจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน เป็นต้น รวมมูลค่าราว 20,000 ล้านเหรียญฯ โดยจะเปิดให้สาธารณชน ผู้ประกอบการ แสดงความเห็นต่อรายการสินค้าที่เพิ่มใหม่ 89 รายการ ในเดือนส.ค.62 จากนั้นจะเสนอให้อนุญาโตตุลาการของดับบลิวทีโอ เห็นชอบระดับความเหมาะสม และมูลค่ามาตรการที่จะใช้ตอบโต้ต่อไป

ขณะที่อียู เมื่อเดือนเม.ย.62 ได้ประกาศร่างรายการสินค้าที่จะขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯเช่นกัน เช่น ซอสมะเขือเทศ, ถั่ว, น้ำส้ม, ช็อกโกแลต และวอดก้า มูลค่ารวม 12,000 ล้านเหรียญฯ ภายหลังจากที่อียูยื่นฟ้องสหรัฐฯต่อดับบลิวทีโอว่าให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะบริษัท โบอิ้ง จนก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการบินของอียู และดับบลิวทีโอได้ตัดสินเมื่อปี 55 ว่าการดำเนินการดังกล่าวของสหรัฐฯผิดหลักการณ์ดับบลิวทีโอจริง โดยปัจจุบัน อียูอยู่ระหว่างรอคำชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับระดับของการตอบโต้ที่เหมาะสม

“หาก 2 มหาอำนาจขึ้นภาษีตอบโต้ทางการค้ากันจริงตามที่ประกาศไว้ จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลก และประเทศต่างๆ แน่นอน เพราะการผลิตสินค้าในปัจจุบันมีหลายรายการที่เชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่การผลิต ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนไทยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะทางออกได้หรือไม่ อย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงทางการค้าและปรับตัวได้ทัน”นางอรมนกล่าว